คอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จ และจดทะเบียนที่กรมที่ดินในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2532 – ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 สถานี กรุงธนบุรี และวงเวียนใหญ่ จากสถานีสะพานตากสินเปิดให้บริการปีพ.ศ.2552 เลื่อนจากปีพ.ศ.2550 ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จในฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะในระยะที่ไม่ไกลจากสถานีทั้งสองนั้นมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2550 เป็นต้นไป
อุปทานคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วในฝั่งธนบุรี ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 73,300 ยูนิต และอีกประมาณ 5,250 ยูนิตที่มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2557 และอีกมากกว่า 15,600 ยูนิตมีกำหนดแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า
ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในฝั่งธนบุรี ณ ปีพ.ศ.2552 อยู่ที่ประมาณ 45,000 บาทต่อตารางเมตร จากนั้นราคาขายปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาเปิดขายคอนโดมิเนียมระดับสูงขึ้น รวมทั้งมีโครงการระดับ Luxury และ High-end มากขึ้น ทำให้ราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นโดยราคาขายเฉลี่ย ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 65,000 บาทต่อตารางเมตร หรือปรับเพิ่มมามากกว่า 44% ภายในระยะเวลา6 ปี
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในแต่ละปีในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2552 ถึงครึ่งแรกปีพ.ศ.2557
คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในฝั่งธนบุรีมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดในทุกๆ ปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 เป็นต้นมา หลังจากที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยอัตราการขายของทุกโครงการที่อยู่ระหว่างการขายนั้นอยู่ที่ประมาณ 67% โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้ หรือติดกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะขายได้มากกว่าโครงการที่อยู่ไกลออกไป
จำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จ และจดทะเบียนที่กรมที่ดินเปรียบเทียบระหว่างฝั่งกรุงเทพ และฝั่งธนบุรี
สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรีนั้นยังคงมีการพัฒนาน้อยกว่าฝั่งกรุงเทพอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเรื่องตลาดคอนโดมิเนียม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของจำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จ และจดทะเบียนที่กรมที่ดินแล้วนั้นมีจำนวนน้อยกว่าฝั่งกรุงเทพอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนคอนโดมิเนียมในฝั่งธนบุรีนั้นมีอยู่ประมาณ 73,300 ยูนิต ในขณะที่ฝั่งกรุงเทพนั้นมีประมาณ 341,200 ยูนิต แตกต่างกันมากกว่า 400% เนื่องจากฝั่งกรุงเทพนั้นเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ธุรกิจ ดังนั้นจึงมีอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และที่สำคัญคือรถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินที่เป็นตัวช่วยผลักดันให้ตลาดคอนโดมิเนียมในฝั่งกรุงเทพนั้นขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากกว่าฝั่งธนบุรี ในขณะที่ฝั่งธนบุรีนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยซะเป็นส่วนใหญ่ ตลาดคอนโดมิเนียมในฝั่งธนบุรีเริ่มมีการขยายตัว และเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการมากขึ้นหลังจากที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลมเริ่มก่อสร้างอย่างเต็มรูปแบบ และยิ่งทวีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีกจากการที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ – ท่าพระ และหัวลำโพง – หลักสอง) ที่เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านถนนจรัลสนิทวงศ์ และเพชรเกษมเริ่มมีความชัดเจน เพราะราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในฝั่งธนบุรียังคงต่ำกว่าฝั่งกรุงเทพมหานครอย่างเห็นได้ชัด