กรมทรัพยากรน้ำบาดาลชี้แจงข่าวต่อความห่วงใยของนักวิชาการอันเนื่องมาจากการคืนตัวของระดับแรงดันน้ำบาดาลที่มีต่อโครงสร้างเสาเข็มใต้ดินอาคารสูงที่ก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ. 2533-2549 ในพื้นที่กรุงเทพฯ

อังคาร ๓๐ กันยายน ๒๐๑๔ ๑๐:๒๒
นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวที่นักวิชาการมีความกังวลว่าตึกสูงในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำคืนตัว ซึ่งจะส่งผลให้ความแข็งแรงของโครงสร้างใต้ดินลดต่ำลง โดยเฉพาะที่ออกแบบและก่อสร้างในช่วงเวลาที่ระดับแรงดันน้ำลดลง ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2549 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ชี้แจงว่า ในอดีตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการใช้น้ำบาดาลปริมาณมาก ทำให้ระดับแรงดันน้ำบาดาลลดลง ส่งผลให้ชั้นดินเกิดการทรุดตัว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยควบคุมการใช้น้ำบาดาล ตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอื่นๆ ได้มีการขยายการให้บริการน้ำประปาจากแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ระดับแรงดันน้ำบาดาลหยุดลดระดับลงและปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การทรุดตัวของแผ่นดินลดลง แต่ส่งผลให้เกิดความห่วงใยของนักวิชาการตามข่าวข้างต้น

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตระหนักถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาและวิจัยผลกระทบที่อาจมีต่อโครงสร้างใต้ดินเนื่องจากการคืนตัวของแรงดันน้ำในชั้นน้ำบาดาลบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ปี 2553-2555 โดยได้ดำเนินการเจาะสำรวจ ทดสอบตัวอย่างดิน และติดตั้งตรวจวัดด้วยอุปกรณ์วัดแรงดันน้ำและการทรุดตัวในชั้นดินหลักต่างๆ ตั้งแต่ใกล้ผิวดินจนถึงความลึก 80 เมตร ทั้งสิ้น 6 สถานี แต่ละสถานีทำการวัด 8 จุด และได้ดำเนินการติดตามตรวจวัดมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนคาดการณ์ผลกระทบในสภาวการณ์ต่างๆ จากข้อมูลการใช้น้ำบาดาล ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระดับแรงดัน และคุณภาพน้ำบาดาล ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยได้คาดการณ์ทั้งในสภาวการณ์ที่มีการบริหารจัดการที่ดีจนถึงไม่สามารถควบคุมได้

ผลการศึกษา พบว่า การใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะใช้น้ำที่ระดับความลึกตั้งแต่ 150 เมตรเป็นต้นไป เนื่องจากน้ำชั้นบนที่ระดับความลึก 50 ถึง 100 เมตร (ชั้นน้ำกรุงเทพ ระดับความลึกประมาณ 50 เมตร และชั้นน้ำพระประแดง ระดับความลึกประมาณ 100 เมตร) เป็นชั้นน้ำเค็ม จึงไม่มีการพัฒนาน้ำบาดาลในชั้นนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำการตรวจวัดระดับแรงดันน้ำในชั้นน้ำพระประแดง โดยในปี 2532 วัดได้ประมาณ 24 เมตรจากผิวดิน ต่อมาลดลงต่ำสุดในปี 2540 ที่ระดับ 27 ถึง 28 เมตร หลังจากนั้นมีฟื้นคืนสูงขึ้นวัดได้ในปี 2550 อยู่ที่ 15 ถึง 18 เมตร ทั้งนี้ ได้คาดการณ์จากผลการศึกษาในสภาวการณ์ที่มีการบริหารจัดการที่ดี พบว่าหากระดับแรงดันน้ำในชั้นพระประแดงสูงขึ้นปีละ 0.5 เมตร ระดับน้ำใต้ดินจะฟื้นคืนสู่สภาวะ Hydrostatic ในประมาณปี 2575–2578 ซึ่งอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างเสาเข็มใต้ดินที่ก่อสร้างมานานแล้ว ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า

จากผลการตรวจวัดค่าแรงดันน้ำในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึง 2557 พบว่าค่าแรงดันน้ำบาดาลในชั้นทรายของชั้นน้ำกรุงเทพที่ระดับความลึก 24-26 เมตร และที่ความลึก 49-55 เมตร ซึ่งเป็นชั้นที่เป็นฐานรากของอาคารสูง มีแนวโน้มสูงขึ้นเพียงปีละประมาณ 0.2 ถึง 0.3 เมตร ส่วนแรงดันน้ำบาดาลในชั้นน้ำพระประแดง พบว่ามีระดับแรงดันน้ำคงที่ ดังนั้นที่มีการคาดการณ์ว่าระดับแรงดันน้ำในชั้นพระประแดงจะถึงสภาวะ hydrostatic ในปี 2578 และจะทำให้โครงสร้างใต้ดินของอาคารที่ก่อสร้างในปี 2533-2549 มีความสามารถรับน้ำหนักลดลงนั้น จึงยังไม่เกิดขึ้นในภายในระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากระดับแรงดันน้ำมีการเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ดังนั้น สถานการณ์ระดับแรงดันน้ำบาดาลในปัจจุบันจึงยังอยู่ในภาวะปกติที่สามารถควบคุมได้ ประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกกับประเด็นข่าวดังกล่าว

ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีมาตรการควบคุมการประกอบกิจการน้ำบาดาล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำบาดาล ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะนำมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมมากำกับดูแลการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อมิให้เกิดผลกระทบ และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณะทราบต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ