นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้โครงการเมืองเกษตรสีเขียวซึ่งเป็นโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งจังหวัดจันทบุรี พื้นที่รับผิดชอบของ สสข.6 ได้รับคัดเลือกเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพเป็น 1 ใน 6 จังหวัดเป้าหมายของโครงการฯ มีความโดดเด่นด้านไม้ผลและประมง
ในการนี้ สศข.6 จึงจัดสัมมนา“ผลการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตรและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกสินค้าเกษตร” ภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียว ณ โรงแรมมณีจันทร์ รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคและเกษตรกรในพื้นที่เมืองเกษตรสีเขียวทราบผลการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตรและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกสินค้าเกษตรที่ สศข.6 ได้ร่วมดำเนินการกับชุมชนเมืองเกษตรสีเขียวของจังหวัดจันทบุรี และทราบถึงโอกาสทางการตลาดในการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตรเป็นจุดขาย สามารถนำแนวทางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรกรรม
การสัมมนาครั้งนี้ สศข.6ได้นำเสนอ“ผลการประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมังคุดผลสด”เบื้องต้นก่อนการทวนสอบเพื่อให้สมาชิกเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลตรอกนองเมืองเกษตรสีเขียวได้รับทราบและร่วมกันพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกิจกรรมของผลิตภัณฑ์มังคุดผลสด ซึ่งคิดที่อายุขัย 100 ปี ตามการประเมินแบบ
Cradle to Grave (Business to Consumer:B2C) ภายใต้หลักการประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ใน 5 กระบวนการ ได้แก่ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การกระจาย การใช้งาน และการกำจัดซาก พบว่า ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์มังคุดผลสดบรรจุกล่อง 5 กก.ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 9.97 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) โดยกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือการกำจัดซาก ร้อยละ 87 เพราะการศึกษาครั้งนี้กำหนดเปลือกมังคุดและเมล็ดเป็นซากของเสียที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งโดยวิธีการฝังกลบ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีการนำเปลือกมังคุดไปใช้ประโยชน์ต่อได้ทั้งหมดโดยการลดของเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์
(Zero Waste) เช่น นำเปลือกใส่ต้นไม้ หมักปุ๋ย หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เป็นต้น สามารถลดก๊าซเรือนกระจกการกำจัดซากได้ถึงร้อยละ 95 จากนั้นนำผลและข้อเสนอแนะจากงานวิจัยเป็นโจทย์ในการเสวนาเรื่อง “แนวทางและความเป็นไปได้ในการลดก๊าซเรือนกระจกของการผลิตสินค้าเกษตร” โดยมีวิทยากรจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตรมานำเสนอผลการศึกษาเชิงทดลองเพื่อแนะนำการจัดการสวนมังคุดเพื่อเพิ่มผลผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยปัจจัยแห่งความสำเร็จเริ่มจากการตัดแต่งกิ่งที่ถูกต้องได้ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และแนวทางการจัดการสวนมังคุดโดยประยุกต์ใช้สารสกัดธรรมชาติและน้ำหมักจากเปลือกมังคุดในการดูแลและจัดการแมลงจากประสบการณ์จริงของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (นายปรีชา คณาญาติ) ซึ่งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนตำบลตรอกนองเมืองเกษตรสีเขียวที่ร่วมทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์มังคุดผลสดภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายพลเชษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์มังคุดผลสดเพื่อจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องชี้วัดชนิดหนึ่งที่สามารถสะท้อนค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการจัดการตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบจนถึงการจัดการซากเพื่อให้สมาชิกเกษตรกรของเมืองเกษตรสีเขียวทราบและตระหนักถึงการผลิตมังคุดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรสีเขียวทั้งในและต่างประเทศก่อให้เกิดรายได้ต่อเกษตรกรและชุมชนมากยิ่งขึ้น