รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล จำเป็นต้องให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 เรื่องเป็นหลัก คือ เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูง ซึ่งจะก่อเกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ เป้าที่ 2 คือ กระจายรายได้เท่าเทียม นั่นคือประชาชนทุกคนได้ประโยชน์จากความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง และเป้าสุดท้าย คือ การรักษาเสถียรภาพระดับราคาและค่าเงิน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพาภาคต่างประเทศ 72% และพึ่งพาภายในประเทศ 28% โดยต้องดำเนินการให้เกิดความผันผวนของค่าเงินน้อยที่สุดในระดับที่ผู้ประกอบการรับได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกและธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ส่วนเงินเฟ้อหรือระดับราคานั้น ควรกำกับให้อยู่ในกรอบ
ทั้งนี้ ตามกรอบเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้น บางเรื่องสามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น บางเรื่องต้องใช้ระยะเวลานานถึงจะสัมฤทธิ์ผล อย่างเช่น ในส่วนของเป้าหมายที่ 2 เรื่องการกระจายรายได้เท่าเทียมนั้น ต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุผล อาทิ การแก้ปัญหาในภาคเกษตรกร ควรจะดำเนินมาตรการเพื่อการเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร เพราะนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และยังตอบโจทย์เป้าหมายการกระจายรายได้ไปพร้อมกันด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในตอนนี้ ภาครัฐต้องทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อปี 57 โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนและงบประมาณปี 58 ส่วนแรก ซึ่งรวมกันกว่า 400,000 ล้านบาท ส่วนในเรื่องของมาตรการภาษีนั้น แม้จะตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม แต่เป็นมาตรการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ในระยะสั้นนั้น ภาครัฐบาลต้องสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ปลดล็อค รง.4 ซึ่งเป็นโรงงานที่สร้างแล้วเสร็จรอการเปิดกว่า 800 โรง และเป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ตลอดจนดำเนินการต่อเนื่องไปถึงในส่วนของ เอส เอ็ม อี ซึ่งอาจจัดให้เป็นมาตรการระยะกลางซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ ต้องใช้โอกาสช่วงไฮซีซั่นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยอำนวยความสะดวกสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากบริษัทประกันไม่คุ้มครองให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นหากรัฐบาลเร่งรัดปลดล็อคแก้ไขในส่วนนี้ได้อย่างเร่งด่วน จะเป็นการช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวที่ก่อเกิดรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้น
“การประสานของหน่วยงานเป็นเรื่องที่สำคัญภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด กรอบระยะเวลาที่มีกำหนด การประสานงานที่ดีจะช่วยลดต้นทุน ลดความซ้ำซ้อนเกิดอรรถประโยชน์ได้สูงสุด เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้นั้นจำเป็นต้องใช้การดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันนั้น ดังนั้นการเร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งแก้ไขปากท้องประชาชนและปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น กลาง ยาวแล้ว การบริหารงานให้ก่อเกิดการประสานงานระหว่างกัน จึงนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลต้องใส่ใจ” ดร.มนตรี กล่าว