นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมไอซีทีอาวุโส จากบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้กล่าวถึงการสภาพตลาดสมาร์ทโฟนสิ้นปีนี้ว่า “ภายในสิ้นปีคาดว่านี้ ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะเติบโตมากกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 30% หรือประมาณ 13 ล้านเครื่อง โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ สภาพตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นประหยัดที่มีตัวเลือกมากขึ้น ความต้องการใช้งานโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น และ ความนิยมของการทำธุรกรรมพาณิชย์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ Mobile Commerce ที่มีมากขึ้น”
“ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทยอยนำสินค้ารุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาดไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Samsung หรือผู้ผลิตหน้าใหม่ที่พยายามเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไม่ว่าจะเป็น Lenovo, Huawei, Oppo หรือสมาร์ทโฟนที่เป็น House brand จากผู้ให้บริการเช่น DTAC หรือ True โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500 บาท ขึ้นไปถึง 8,000 บาท
ด้วยราคาที่ลดต่ำลงส่งผลให้คนไทยหันมาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนมากขึ้นแทนที่โทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนแบบดั้งเดิม ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสมาร์ทโฟนต่อฟีเจอร์โฟนแบบดั้งเดิมมีเพิ่มมากขึ้น โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะมีราคาอยู่ระหว่าง 4,000 – 8,000 บาทซึ่งอยู่ในอัตราส่วนที่ไม่น้อยกว่า 70% ของตลาดสมาร์ทโฟนทั้งหมดในประเทศ โดย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนประเมินว่าถึงสิ้นปีนี้ ยอดขายโทรศัพท์ชนิดสมาร์ทโฟนในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของทั้งหมด และอีก 40% ของการขายจะเป็นโทรศัพท์ชนิดฟีเจอร์โฟน” นายธีระ กล่าว
นายธีระ ให้ความเห็นว่า “นอกจากนี้ ปัจจัยหลักอีกประการคือกระแสความนิยมการใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังพุ่งแรงไม่หยุด มีส่วนผลักดันการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกลายเป็นช่องทางหลักที่คนไทยใช้ติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ แทนที่การใช้คอมพิวเตอร์พีซีไปแล้ว จากผลสำรวจพบว่าคนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวัน กับการออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโดยเฉลี่ย 2.6 ชั่วโมงต่อวันเพื่อท่องโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเวลาที่มากกว่าเวลาที่ใช้กับสื่ออื่นๆ เช่น การดูโทรทัศน์
นอกจากเทรนด์การใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าถึงโซเชียลมีเดียเป็นหลักแล้ว คนไทยยังมีอัตราการเข้าใช้งานที่บ่อยครั้งมาก โดยจากผลสำรวจพบว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไทยถึง 61% ยอมรับว่าเข้าใช้งานโซเชียลมีเดียทุกวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 42% อีกทั้งฐานผู้ใช้งานในประเทศไทยยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในแนวราบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเยาวชนอายุน้อยกว่า 15 ปีที่เริ่มหันมาใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้ง Chat App ในการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น”
ท้ายสุด นายธีระให้ความเห็นว่ากระแสความนิยมและการเติบโตของ Mobile Commerce นั้นก็มีส่วนช่วยทำให้ประชากรไทยมีความตื่นตัวในการหันมาใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น
“อัตราการซื้อขายทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์หรือ Mobile Commerce ในปีนี้นั้นมีอัตราการเติบโตมากกว่าปีที่แล้วมากกว่า 100% ล้อไปกับการเติบโตของ E-Commerce ที่ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 30% สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือและสื่อกลางที่สะดวกที่สุดเพราะสามารถสั่งซื้อ ชำระค่าสินค้า และสอบถามข้อมูลติดต่อกับผู้ขายผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆได้ภายในเครื่องเดียว ปัจจัยนี้ส่งผลให้ความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนนั้นขยายตัวจากกลุ่มผู้บริโภค ไปยังภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs”
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณสมาร์ทโฟนจะเติบโตขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้สมาร์ทโฟนที่ทำตลาดได้ดีนั้นเป็นรุ่นที่มีราคาไม่สูง มูลค่าโดยรวมของการซื้อขายในตลาดอาจไม่เติบโตจากปีที่แล้วมากนัก แม้ว่าจำนวนเครื่องที่จำหน่ายจะมีจำนวนมากขึ้นก็ตาม” ธีระเสริม