โดย นายศิริยศ จุฑานนท์
นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหุ้นไทยในยุคชะลอ QE
นับเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ได้ประกาศใช้ Unconventional monetary policy measures เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเองให้ผ่านพ้นวิกฤติการเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกในปี 2551 โดย FED เริ่มทำการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบการเงินที่เรียกว่า Quantitative Easing (QE) ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯแล้ว ปริมาณเงินที่มากมายเหล่านี้ยังส่งผลต่อตลาดทุนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดทุนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีขนาดเล็กและมีโอกาสเติบโตสูงอีกด้วย จนกระทั่งในช่วงกลางปี 2556 ที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ส่งผลให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า FED จะเริ่มลดวงเงินที่อัดฉีดลงและสิ้นสุดการทำ QE ในช่วงตุลาคม 2557
ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่มีการทำ QE นั้นถือว่ามีผลตอบแทนสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนจากต่างประเทศที่มีปริมาณมากและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งต้องการหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากการใช้ Unconventional monetary policy measures เหล่านี้จบลง ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรในยุคชะลอ QE? จึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการ QE และเงินทุนไหลเข้า/ออกของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย โดยสรุปแล้วผู้วิจัยเห็นว่าการสิ้นสุดลงของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนี้ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่นักลงทุนหลายท่านคิดนัก เนื่องจาก ประการแรกนักลงทุนจำนวนมากยังเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย ประการที่สอง FED ได้แสดงจุดยืนในการบริหารความคาดหวังของตลาดไม่ให้เกิดเรื่องประหลาดใจขึ้นอย่างเช่น ไม่ประกาศการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบกระทันหัน ประการที่สาม นักลงทุนต่างชาติได้ทำการขายหุ้นไทยไปก่อนที่จะมีการประกาศ QE tapering ไปพอสมควรแล้ว อีกทั้งจากการประมาณกำไรจาก Capital Gain ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเหลืออยู่ในตลาดหุ้นไทยพบว่ามีมูลค่าไม่สูงนัก และประการสุดท้าย พบว่าในช่วง ม.ค. - มิ.ย. 2557 ปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศมีบทบาทต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าปัจจัยที่เกี่ยวกับการทำ QE tapering ดังนั้นหากการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงต่อไป