สถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่ายอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ปี 2557 อยู่ที่ 1,320,000 คัน ลดลง ร้อยละ 22.44 เมื่อเปรียบเทียบกับ จำนวนการผลิตช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดย บริษัท Ipsos Business Consulting ได้คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2557 น่าจะอยู่ที่ราว 2.06 ล้านคัน ( ลดลง 17% เทียบกับ ในปี 2556 ) หากมีปัจจัยผลักดันในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจับลบที่ยังคงส่งผลต่อภาพรวมตลาด อาจทำให้ยอดรวมการผลิตรถยนต์ลดลงได้ถึง 23% อยู่ที่ 1.9 ล้านคัน
มุมมองล่าสุดจาก Ipsos Business Consulting ในตลาดรถยนต์ส่งออก นั้นสามารถทรงตัวได้ตามการคาดการณ์ของตลาด โดยสามารถคงระดับการส่งออกได้เช่นเดียวกับปี 2556 แต่ตลาดรถยนต์ในประเทศนั้นยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก โดยที่สถิติการขายรถยนต์ มกราคม-สิงหาคม 2557 นี้ลดลงกว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายสะสมเมื่อปีที่ผ่านมา ด้านผู้ผลิตหลักในตลาดรถยนต์ อาทิ ฮอนด้า ( ยอดขายลดลงกว่า 40% ) โตโยต้า ( ยอดขายลดลงกว่า 26% ) ได้มีการปรับลดการประมาณการการผลิตในประเทศไทย
มร. คอลิน คิงฮอลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท Ipsos Business Consulting กล่าวว่า “ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยนั้น ยังขาดปัจจัยบวกในการส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์ในประเทศนั้นยังคงอยู่ในช่วงที่ชะลอตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ที่ลดลง จากยอดทั้งหมด 180,000 คันในปี 2556 เหลือเพียง 72,000 คัน ในช่วง มกราคม-กรกฎาคม 2557 ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้แต่โครงการที่เป็นถึงหัวใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐบาล การซื้อขายรถยนต์ Eco Car ในประเทศก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับยอดตลาดรถยนต์ภายในประเทศ”
ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณ สรรค์พิจิตร ส่งไพศาล ผู้จัดการที่ปรึกษา ประจำประเทศไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และบางทีอาจส่งผลกระทบมากกว่านโยบายรถคันแรกของรัฐบาลก่อนหน้า คุณสรรค์พิจิตร ได้กล่าวว่า “ อัตราหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น อยู่ที่ 219,000บาท ต่อครัวเรือน ไม่เพียงแต่อัตราหนี้ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่อัตราหนี้ครัวเรือนในไทยนั้นยังคงเพิ่มสูงขึ้น กว่า 16.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา นี่เป็นการแสดงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในตลาดยานยนต์ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อในตลาดรถยนต์ที่จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น และเป็นปัจจัยลบต่อความต้องการของตลาดรถยนต์ในประเทศ”
อินโดนีเซีย: ผู้ท้าชิงหมายเลข 1
ผู้เชี่ยวชาญวงการยานยนต์ในภูมิภาคคาดว่าอินโดนีเซียนั้นจะใช้โอกาสจากปัญหาความต้องการรถยนต์ในประเทศของไทยที่ลดลงในการปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นมาผู้แข่งขันที่สำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในอาเซียน อย่างไรก็ตามทาง บริษัท Ipsos Business Consulting พบว่าอินโดนีเซียเองก็ได้มีการปรับประมาณการผลิตยานยนต์ของปี 2557 ลดลงจาก 1.4 ล้านคัน เป็น 1.3 ล้านคัน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ลดต่ำลงเช่นกัน
“เป็นที่คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะสามารถพัฒนาตัวเองได้เทียบเท่ากับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียนในอนาคต แต่คำถามอยู่ที่ว่าเมื่อไหร่” คุณสรรค์พิจิตรกล่าว “ในภาพรวม อินโดนีเซียอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 ปีในการก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามเราจะพบได้ว่าผู้ผลิตชึ้นส่วนยานยนต์ในไทยจะยังคงผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับตลาดอินโดนีเซีย อีกทั้งอินโดนีเซียเองยังคงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของทั้งกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สำคัญเทียบเท่าประเทศไทยหรือจีนที่เป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกในปัจจุบัน ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกพอสมควร ดังนั้นประเทศไทยยังคงมีเวลาที่จะวางกลยุทธ์เพื่อรักษาสถานภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในตลาดอาเซียนต่อไป
แนวโน้มในอนาคต
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 เรายังไม่เห็นผลกระทบเชิงบวกของรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกมาในตลาดที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค มีเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่สามารถทำยอดขายได้จากรถยนต์รูปโฉมใหม่ที่เปิดตัวในตลาด อาทิเช่น โตโยต้า อัลติส และ มาสด้า 3 ทำให้ผู้ผลิตหลายค่ายยังคงรอคอยท่าทีจากรัฐบาลในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการลงทุนจากภาครัฐรวมไปถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดช่วงปี 2558 จะทำให้การภาพรวมการผลิตรถยนต์ในไทยสามารถกลับมาอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านคันได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากตลาดยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะมองหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องบิน เป็นต้น
ขณะที่ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในไทยระยะกลางถึงระยะยาวนั้นคงเป็นไปในแง่บวก แต่แนวโน้มในปี 2558 ยังคงมีคำถามอีกหลายประการ เช่น ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง จึงเป็นการยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อีกทั้งการความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังคงไม่ได้มีการแก้ไขในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมในระยะสั้นของตลาดในประเทศไทยยังคงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงและยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่ เวปไซต์ www.ipsosconsulting.com หรือ สรรค์พิจิตร ส่งไพศาล, ผุ้จัดการประจำประเทศไทย, Ipsos Business Consultingโทร: +66 2697 0105 อีเมลล์: [email protected]