นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(PMOVE) และเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ได้ยืนหนังสือต่อรัฐบาล เรื่องขอยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหน่วยหลักในการดำเนินงานแก้ไขปัญาดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว) จึงมีนโยบายด้านที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง และกำหนดนโยบายเร่งด่วนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย โดยดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดทั่วประเทศ ให้มีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดรูปธรรมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างประชาชน หน่วยงานวิชาการ ท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างประชาชนและหน่วยงาน ให้เกิดการผ่อนปรนกฎหมายและระเบียบที่ไม่เอื้อคนจน ซึ่งกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan) ที่มีการติดตามประเมินผลทุกๆ ๓ เดือน มีกลไกสนับสนุนทั้งในระดับกระทรวงและระดับชาติ และมีศูนย์ปฏิบัติการติดตามอย่างใกล้ชิด
นายเลิศปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนปฏิบัติการ มี ๒ ระยะ ดังนี้ ๑)ระยะ ๓ เดือน (ต.ค.-ธ.ค.๕๗) ได้แก่ ๑.ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง ในชุมชนริมคลองสายไหม ชุมชนที่ถูกไล่รื้อเร่งด่วน และกรณีชุมชนพื้นที่ริมทางรถไฟ ๑๔ ชุมชน จำนวน ๒,๖๔๑ ครัวเรือน ๒.ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงทั่วไป สำหรับชุมชนที่มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัยระดับเมือง จำนวน ๑,๐๐๐ ครัวเรือน ๓.ประสานหน่วยงาน เจ้าของที่ดินและผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพฯ กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดิน มาร่วมสนับสนุน ๔.อนุมัติงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ๕.แต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยปัญหาการไล่รื้อชุมชนแออัดระดับกระทรวง โดยมีรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และ ๖.พิจารณานำข้อเสนอของเครือข่ายสลัม ๔ ภาค เช่น การพิจารณางบสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง จำนวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท งบโครงการชุมชนใหม่คนไร้บ้าน จำนวน ๙๗ ล้านบาท และงบประมาณช่วยเหลือชุมชนประสบปัญหาการไล่รื้อ จำนวน ๓๐ ล้านบาท เข้าเสนอพิจารณาในการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่อไป ๒)ระยะ ๖ เดือน (ม.ค.-มี.ค.๕๘) ได้แก่ ๑.ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง ในชุมชนริมคลองเปรมประชากร ชุมชนที่ถูกไล่รื้อเร่งด่วน และชุมชนริมทางรถไฟ ๒๐ ชุมชน จำนวน ๑,๐๐๐ ครัวเรือน ๒.ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงทั่วไป สำหรับชุมชนที่มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัยระดับเมือง จำนวน ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ๓.เสนอแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาชุมชนแออัด “โครงการบ้านมั่นคง” ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๒) ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาชุมชนแออัด ๔.ทำ MOU กับหน่วยงานเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง และ ๕.อนุมัติงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ล้านบาท