นางสาวชุติมณฑน์ ศรีขำ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสเปิดตัวโครงการ ครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรสื่อมวลชนที่นอกจากจะมีภารกิจเพื่อการพัฒนาการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนมาตรฐานจริยธรรมแล้ว สื่อมวลชน ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ ข่าวสารความรู้ ต่อสารธารณชน แล้ว ยังต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่เน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวมไปพร้อมกันด้วย
ซึ่งในโอกาสนี้ ทางสมาคมนักข่าวฯ ตระหนักถึงการเป็นผู้ให้กลับคืนต่อสังคม พร้อมกันด้วย โดยจัดโครงการ ร่วมบริจาคโลหิตให้กับทางสภากาชาดไทย นำร่องในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ และจะดำเนินโครงการต่อเนื่อง ทุกๆ ๖ เดือน ไปจนถึง วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวน สื่อมวลชน เข้าร่วมโครงการบริจาคโลหิตของสมาคม ฯในโอกาสต่อไป
เพราะ ทางคณะกรรมการสมาคมฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมืองไทยเป็นเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และให้ความสำคัญกับการทำบุญเพื่อสร้างถาวรวัตถุ หรือถวายจตุปัจจัยต่างๆแก่พระสงฆ์ โดยมีความเชื่อว่า ได้ทำความดีเพราะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืนสืบไป
ซึ่งการทำบุญในรูปแบบนี้เรียกว่า “ทานมัย” โดยอานิสงส์ของการให้ทานมัย ย่อมส่งผลเป็นความสุขเสมอ และจะเป็นบุญที่ย้อนกลับมาถึงตัวเราในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟเชื่อว่าให้จักษุ และให้ที่พักพาอาศัยชื่อ ว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง" โดยการให้ทานที่จะส่งผลมากหรือน้อยมีหลักสำคัญประการหนึ่งที่ว่า ของที่ให้ทานเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของที่โกงหรือลักจากผู้อื่นมา ซึ่ง “การให้” ในสิ่งที่ผู้ให้ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิดให้แก่สังคมไทยในโอกาสนี้คือ
การให้หรือการบริจาคโลหิต เพราะผู้ให้ได้มาโดยสร้างขึ้นเองซึ่งเป็นความบริสุทธิ์อย่างแท้จริงโดยไม่ได้ใช้เงินซื้อหา อีกทั้งเมื่อให้หรือบริจาคไปแล้วผู้ให้จะได้รับผล คือความสุข แล้วยังได้รับบุญที่ย้อนกลับมาถึงตัวผู้ให้ได้อย่างทันตาเห็น เพราะการบริจาคโลหิตมีเงื่อนไขว่า ผู้ให้จะต้องเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงจึงจะสามารถบริจาคโลหิตให้ผู้อื่นได้ หากปลูกฝังความคิดการให้นี้แก่ผู้คนในสังคมได้ประเทศเราก็จะมีพลเมืองที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเพื่อเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคทานด้วยโลหิตซึ่งทำให้ได้รับอานิสงส์ตามคำสอนของพระพุทธองค์เพิ่มขึ้นให้ทันยุคสมัยอีกประการหนึ่ง คือ “บุคคลให้โลหิต ชื่อว่า ให้ชีวิต” เพราะโลหิตหมายถึงชีวิตของเพื่อนมนุษย์อันเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่ง