เมื่อทีวีไทยถึงหลักไมล์ของการเปลี่ยนผ่านครั้งสําคัญอีกครั้ง หลังอยู่กับระบบออกอากาศโทรทัศน์แบบอนาล็อคมาช้านาน เราก็มาสู่ระบบดิจิทัล...แม้ว่าจะมาแบบมาช้าดีกว่าไม่มาก็ตาม
หนังสือ “มหากาพย์ทีวีดิจิทัล” เป็นอีกหนึ่งเล่มที่บอกเล่าเรื่องราวและ วิเคราะห์เจาะลึก ในความเป็นมา ความเป็นอยู่
และความเป็นไปของทีวีดิจิทัลเมืองไทย โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อํานวยการบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง
คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวดีมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้ อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้
เป็นเสมือนภาคต่อจากเล่มที่ชื่อว่า “ภูมิทัศน์สื่อดิจิทัลมีเดียทีวีพันช่อง” เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะคัดสรรมาจากคอลัมน์เดียวกัน “คิดใหม่วันอาทิตย์” ของอดิศักดิ์ในหน้า 2 ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ที่ยังมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งสําคัญของหน้าประวัติศาสตร์ในวงการสื่อและทีวีไทย ที่อดิศักดิ์บอกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสําคัญมากที่สุด
เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 60 ปี
อย่างที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทีวีดิจิทัลทําเม็ดเงินจากการประมูลได้ถึงกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสําเร็จเกินคาด แต่ในเชิงคุณภาพยังมีหลายคําถามให้ถกเถียงกัน ยากที่จะตัดสินว่าใครถูก-ใครผิด เช่น ทําไมเปิดประมูลพร้อมกัน
24 ช่อง มากเกินไปหรือเปล่า, ในด้านธุรกิจจะไปรอดหรือไม่, ทําไมไม่รอใหโครงข่ายเสร็จเรียบร้อยครอบคลุม 100 % ของพื้นที่แล้วค่อยเปิดประมูล, ทําไมต้องทําทีวีดิจิทัล ทั้งที่จานดาวเทียมเข้าไปในบ้านคนไทยเกินกว่า 70 % แล้ว ฯลฯ
มิพักต้องเอ่ยถึงข้อถกเถียงต่างๆ ที่ตกเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งการวดัเรทติ้ง, การแจกคูปองกล่อง และกรณีของช่อง 3 ทั้งหลายทั้งปวงที่เอ่ยมานี้อดิศักดืได้เขียนครอบคลุมอยู่ใน“มหากาพย์ทีวีดิจิทัล” ย้อนความไปตั้งแต่ก่อนการประมูล, หลังการประมูล และอนาคตหลังจากนั้นซึ่งผลพวงของมันไม่เพียงแต่กับผู้ชมเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับทีวีทั้งผู้ผลิต, บริษัทมีเดียเอเยนซี่และผู้ลงโฆษณา
ดังที่อดิศักดิ์วิเคราะห์ไว้ว่าทีวีดิจิทัลเป็นมหากาพย์ที่เพิ่งเริ่มต้น แล้วกําลังจะทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ไม่มีวันสิ้นสุด
อยากรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึกมากว่านี้
เชิญหาและพลิกอ่านโดยพลัน!!