นพ.ชาคร จันทร์สกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท กล่าวว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่มีผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาแพทย์เป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาการปวดศีรษะที่ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์บ่อยที่สุดในคลินิกปวดศีรษะ คือ อาการปวดศีรษะไมเกรน สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ หรือเกิดการอักเสบของเส้นเลือด สมอง และเส้นประสาท พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 25-55 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนมักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว แต่อาการปวดอาจย้ายข้างหรือปวดศีรษะทั่วๆ ทั้ง 2 ข้างก็ได้ อาการปวดศีรษะอาจรุนแรงมากจนทำให้การเรียนหรือการทำงานเสียไป เพราะในขณะที่มีอาการปวดศีรษะ การเคลื่อนไหวหรือกิจวัตรประจำวันต่างๆ มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ มีอาการไม่อยากเห็นแสงจ้าและไม่อยากได้ยินเสียงดังร่วมด้วย
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคไมเกรนที่หลากหลาย ในผู้ป่วยไมเกรนมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (chronic migraine) ที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (botulinum toxin) ชนิด A หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ โบท็อกซ์ (BOTOX) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวได้แล้ว ยังเชื่อว่าสารนี้สามารถยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองได้ด้วย การฉีดโบ ท็อกซ์จึงสามารถลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ และลดความถี่ของอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดีรวมทั้งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอาจจะไม่จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันอาการปวดศีรษะเป็นประจำ หรืออาจจะลดขนาดยาลงได้ ในการรักษาแต่ละครั้ง แพทย์จะฉีดที่ใบหน้าบริเวณระหว่างคิ้ว หน้าผาก ท้ายทอย ต้นคอ และบ่า เป็นจำนวน 31 จุด จากการวิจัยพบว่าสามารถลดอาการปวดลงได้ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ การฉีดแต่ละครั้งมีผลอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน และพบผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
วิธีการรักษาไมเกรน นอกจากนี้การรักษาด้วยการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินแล้ว ยังการรักษาอื่นๆร่วมด้วย อาทิ การให้ยาป้องกัน ต้องทานติดต่อกันประมาณ 6 เดือน -1 ปี ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากรับประทานประมาณ 2 อาทิตย์ การใช้วิตามินหรือเกลือแร่ เช่น แมกนีเซียม 400-600 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินบี 400 มิลลิกรัมต่อวัน โคเอนไซม์คิวเทน 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน การใช้ยาฉีดร่วมกันหลายชนิด (Headache Cocktail) เพื่อลดอาการปวดศีรษะและการกลับเป็นซ้ำ หรือการรักษาแบบไม่ใช้ยา อาทิ การฝังเข็ม การทำกายภาพบำบัด การฝึกความผ่อนคลาย และไบโอฟีดแบค (Biofeedback) ให้เรียนรู้ถึงการควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การหายใจ, อัตราการเต้นของหัวใจ, อุณหภูมิที่ปลายมือ, และการกำหนดจิต เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการเลือกรูปแบบการรักษา
นพ. อภิชาติ พิศาลพงศ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากโรคไมเกรนแล้ว โบทูลินัมท็อกซิน สามารถใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติซึ่งเป็นการรักษาที่มีข้อบ่งชี้มาก่อนการรักษาโรคไมเกรนหรือเพื่อความงาม ซึ่งโรคกลุ่มที่มีอาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ (dystonia) เช่น โรคหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hermifacial spasm) โรคหนังตาสองข้างบีบเกร็ง (blepharospasm) โรคคอบิด (cervical dystoniaหรือ torticollis) กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาต(muscle spasticity) ซึ่งสารนี้จะช่วยบรรเทาอาการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าหรือหนังตา แก้ไขคอที่เอียงผิดปรกติและลดความปวดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อลงได้ โดยที่สารนี้จะไปยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อชั่วคราว โดยไปยับยั้งการปล่อยสาร acetyl choline ที่ปลายประสาทที่ต่อกับกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง หลังฉีดยาจะไม่ออกฤทธิ์ทันทีต้องใช้เวลา 3-4 วันและจะออกฤทธิ์สูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 และส่วนผลของการรักษาจะอยู่ได้นานถึง 2-3 เดือนแล้วค่อยๆหมดฤทธิ์ลง ทำให้มีความจำเป็นต้องกลับมาฉีดสารนี้เป็นระยะทุก 2-3 เดือน เพราะถ้าทิ้งไว้นานอาการจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมนอกจากนี้สารนี้ยังสามารถลดการหลั่งเหงื่อบริเวณฝ่ามือและรักแร้ซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นตัวได้อีกด้วย การออกฤทธิ์ต้องทำด้วยการฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อหรือต่อมเหงื่อส่วนที่มีอาการเท่านั้น การทาสารนี้ที่ผิวหนังยาจะไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70