นางรัชนี ปิ่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 17 เพชรบุรี (สศข.17) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่พาดผ่านภาคใต้ตอนบน และอ่าวไทย ระหว่างวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2557 ในพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดเพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ จากการสอบถามเกษตรกร ผู้นำหมู่บ้าน เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับทางกรมการข้าว และ สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งพบว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ และอำเภอแก่งกระจาน มีสินค้าเกษตรที่จะได้รับความเสียหาย โดยข้าว คาดว่าจะเสียหายจำนวน 38,228 ไร่ ส่วนพืชผัก (แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ พริก ฯลฯ) คาดว่าจะเสียหาย 3,002 ไร่ ไม้ผล (กล้วยหอม กล้วยไข่) คาดว่าจะเสียหาย 4,291 ไร่
โดยขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2557) พบพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบเสียหายแล้วประมาณ 1,900 ไร่ จากเนื้อที่ปลูก 316,660 ไร่ (ร้อยละ 0.6) และผลผลิตลดลง 1,358.5 ตัน จากผลผลิตทั้งหมด 225,987 ตัน (ลดลงร้อยละ 0.6)
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอปราณบุรี พืชที่ได้รับผลกระทบคือ พืชผัก (เผือก มันเทศ ข้าวโพดฝักสด ว่านหางจระเข้) ซึ่งคาดว่าจะเสียหายจำนวน 8,727 ไร่ โดยขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2557) พบนาข้าวเสียหาย 100 ไร่ จากเนื้อที่ 44,164 ไร่ (ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.23) และคาดว่าผลผลิตจะลดลงลดลง 57.1 ตัน จาก ผลผลิต 25,218 ตัน (ลดลงร้อยละ 0.23)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางจังหวัดได้ดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว ยกเว้นเฉพาะที่ลุ่มน้ำท่วมขัง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ทำประกันภัยไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศข.17 จะได้ติดตามและลงพื้นที่สำรวจอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างนางรัชนี กล่าวในที่สุด