แพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมเผยความก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์ล่าสุด กับนวัตกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่

ศุกร์ ๑๗ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๔:๓๑
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล (กลาง)กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์โทมัส ซี ไรท์ (ซ้าย) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านพยาธิวิทยา และเซลล์ชีววิทยา จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และนายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล (ขวา) นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ได้ร่วมเผยถึงความก้าวหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกในงานแถลงข่าว “ยกระดับการตรวจมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่” เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการด้านพยาธิวิทยาระดับนานาชาติ (Congress of the International Academy of Pathology) ครั้งที่ 30 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาธิแพทย์ชั้นนำทั้งในประเทศและทั่วโลกกว่า 1,200 คนมาร่วมงาน

ความก้าวหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ เทสต์ตรวจโปรตีน p16/Ki-67 หรือที่เรียกว่าp16/Ki-67 biomarker test และ เทสต์ตรวจโปรตีน p16 ในชิ้นเนื้อ หรือที่เรียกว่า p16 histology test ตัวช่วยให้การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และมีความแม่นยำมากขึ้น

นายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า “มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย จากสถิติในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 8,184 ราย และคร่าชีวิตผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 4,513 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 12.3 ราย2 ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ”

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากเชื้อไวรัส human papilloma virusหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ไวรัสเอชพีวี’ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่มีอยู่ 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ถือเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 701 นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเชื้อไวรัสเอชพีวีอีก 12 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้ป่วยอีกร้อยละ 30 ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสเอชพีวี จะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีทุกคนจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะปกติร่างกายสามารถขจัดเชื้อเอชพีวีออกไปได้เอง ในบางรายจึงเป็นการติดเชื้อชั่วคราวเท่านั้น

ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกขั้นปฐมภูมิอย่างแพปสเมียร์ควบคู่กับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ดีเอ็นเอ จะสามารถระบุการติดเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้ แต่หากผลการตรวจแพปสเมียร์ปกติ และไม่พบการติดเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 แต่กลับพบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในกลุ่ม 12 สายพันธุ์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจจะวินิจฉัยว่ายังไม่ต้องเข้ารับการตรวจคอลโปสโคป (ซึ่งเป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กทรอนิคขนาดใหญ่ เพื่อตรวจดูหาเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณปากมดลูก) แต่ให้กลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งใน 1 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้ที่ผลตรวจแพปสเมียร์มีความผิดปกติเล็กน้อย ก็จะให้รอติดตามผลและมาตรวจคัดกรองอีกครั้งในอีก 1 ปีขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์โทมัส ซี ไรท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านพยาธิวิทยา และเซลล์ชีววิทยา จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในระหว่างรอการกลับมาตรวจซ้ำเป็นระยะเวลา 1 ปีนั้น ผู้หญิงหลายคนอาจจะเกิดความเครียด วิตกกังวล และในบางรายอาจทำให้การรักษาเกิดความล่าช้าได้ ดังนั้น นวัตกรรมการตรวจคัดกรองแนวใหม่ด้วย เทสต์ตรวจโปรตีน p16/Ki-67 จะช่วยจำแนกได้ว่าผู้หญิงคนใดที่ติดเชื้อเอชพีวีหรือมีผลแพปสเมียร์ผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก และต้องเข้ารับการตรวจด้วยคอลโปสโคปทันทีแทนที่จะต้องรออีก 1 ปี”

เทสต์ตรวจโปรตีน p16/Ki-67 นี้จะเป็นการตรวจหาโปรตีน p16 และ Ki-67 ไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ตัวอย่างเดิมจากการตรวจแพปสเมียร์ หากพบโปรตีนทั้ง 2 ตัวก็จะแปลว่าผู้หญิงคนนั้นควรได้รับการตรวจคอลโปสโคปเพิ่มเติมต่อไป แต่หากผลการตรวจไม่พบโปรตีนทั้ง 2 ตัวพร้อมกัน ผู้หญิงคนนั้นก็สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองตามปกติได้

สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจคอลโปสโคปและพบความผิดปกติ จะต้องทำการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อมาวินิจฉัย(biopsy) นวัตกรรมการตรวจที่เรียกว่า เทสต์ตรวจโปรตีน p16 ในชิ้นเนื้อ หรือ p16 histology test เข้ามาช่วยในขั้นตอนการวินิจฉัยรอยโรค โดยจะตรวจหาโปรตีน p16 เพียงตัวเดียว เพื่อยืนยันว่ามีหรือไม่มีรอยโรคก่อนมะเร็งที่รุนแรง เพื่อที่จะทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและป้องกันการรักษาเกินความจำเป็นได้

“เทสต์ตรวจโปรตีน p16 ในชิ้นเนื้อแสดงให้เห็นว่าสามารถเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้วิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (College of American Pathologists) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีคำแนะนำให้ใช้เทสต์ตรวจโปรตีน p16 ในชิ้นเนื้อ และเมื่อประกอบเข้ากับการใช้เทสต์ตรวจโปรตีน p16/Ki-67 เพื่อใช้ตรวจผู้หญิงที่มีผลตรวจแพปสเมียร์ผิดปกติหรือมีการติดเชื้อเอชพีวี พยาธิแพทย์และสูตินรีแพทย์ก็จะมีเครื่องมืออันครบครันซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์โทมัส ซี ไรท์ กล่าวเสริม

ปัจจุบัน นวัตกรรมใหม่การตรวจมะเร็งปากมดลูกของโรชทั้ง เทสต์ตรวจโปรตีน p16/Ki-67 (p16/Ki-67 biomarker test) และเทสต์ตรวจโปรตีน p16 ในชิ้นเนื้อ (p16 histology test) ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศไทยแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม