โรคพาร์กินสัน ไม่ใช่แค่อาการสั่น!!

ศุกร์ ๑๗ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๐๗
นพ. อภิชาติ พิศาลพงศ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ รองประธานชมรมโรคพาร์กินสันไทย หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ในปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไปมีความตื่นตัวและสนใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันกันมากขึ้น เนื่องจาก เมื่อเร็ว ๆ นี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ ดาราภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวู้ดอย่าง ไมเคิล เจ ฟ็อกซ์ หรือนักมวยชื่อก้องโลกอย่าง โมฮัมเหม็ด อาลี หรือแม้กระทั่งพระสันตะปาปา โป๊ปจอห์น พอลที่ 2 ที่ล่วงลับไป ก็ต่างออกมาเปิดเผยว่าได้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคพาร์กินสันและการรักษาขึ้นมาด้วย

ในทางวงการแพทย์นั้นโรคพาร์กินสันรักษาได้หลายวิธี ทั้งจากการรับประทานยาหรือการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังเพื่อให้การดูดซึมเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอ หรือการผ่าตัดสอดสายเข้าลำไส้เล็ก เพื่อปลดปล่อยยาอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เครื่องปั้มยาช่วยหรือการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งมีการคาดการว่าโดยทางสถิติน่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศไทยประมาณหนึ่งแสนรายและเป็นประชากรผู้สูงอายุ และมีบางส่วนยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ตลอดจนยังไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี

อาการหลักของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่จะแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด คือจะมีอาการสั่นขณะอยู่นิ่ง ๆ หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวช้า และสูญเสียสมดุลการทรงตัว ทำให้ล้มบ่อย โดยอาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งและลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการทั้งสองข้างจะไม่เท่ากัน เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น โดยข้างที่เริ่มเป็นก่อนจะคงเป็นมากกว่าข้างที่เป็นทีหลัง ส่วนอาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ อาการน้ำลายไหลควบคุมไม่ได้ เขียนตัวหนังสือเล็กลง เดินไม่แกว่งแขน เดินซอยเท้า เท้าติด ยกเท้าลำบาก หกล้มบ่อย พูดเสียงเบาอยู่ในลำคอ นอนไม่หลับจากขากระตุก ฝันเสมือนจริง ท้องผูก เป็นต้น และผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่น เคลื่อนไหวลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในรายผู้ที่สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้ม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้

ส่วนขั้นตอนในการวินิจฉัยนั้น เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค อาจต้องตรวจเลือด ทำสแกนสมองโดย CT หรือ MRI เพื่อหาสาเหตุ และ มีการตรวจค้นเพื่อดูการทำงานของสมองส่วนที่สร้างสารโดปามีนด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การทำ F-dopa PET scan หรือ DAT scan ซึ่งจะสามารถเสริมความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ และหากพบว่าเป็นโรคพาร์กินสัน แพทย์ก็จะเริ่มรักษาด้วยยาทดแทนโดปามีนที่ขาดหายไปจากเซลล์สมองที่เสื่อมลง เช่น ยาลีโวโดปา ในปัจจุบันการรักษาด้วยยายังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด นอกจากลีโวโดปาผู้ป่วยอาจใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ยาว ใช้กินเพียงแค่วันละ 1 ครั้ง เช่น pramipexole หรือ ropinirole หรือยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ได้แก่ rotigotine patch ซึ่งยาชนิดใหม่ทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นยากลุ่มโดปามีนอโกนิส(dopamine agonists) ซึ่มักใช้ในระยะเริ่มต้นจะช่วยชลอให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวช้าลง เช่น อาการยาหมดฤทธิ์ก่อนเวลาอันควร (wearing off) หรืออาการตัวยุกยิกรำละคร (dyskinesias) ส่วนยาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นยาใหม่ คือยา rasagiline ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม MAO-B inhibitor ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดอาการของโรคพาร์กินสันได้ ส่วนยาที่มีส่วนประกอบของยา levodopa ร่วมกับ entacapone และ carbidopa นั้นจะสามารถยืดระยะเวลาให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม ส่วนยา apomorphine เป็นยาน้ำชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังโดยมีทั้งที่ฉีดเป็นครั้ง ๆ หรือฉีดแบบต่อเนื่องโดยใช้เครื่องปั้มยาที่มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือช่วยเพื่อช่วยลดอาการหมดฤทธิ์ก่อนเวลาได้

ส่วนในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคนี้และยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้การปรับยาเป็นไปได้ยากขึ้น จึงมีการรักษาด้วยวิธีใหม่ ๆ โดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ การผ่าตัดสอดสายเข้าทางหน้าท้องสู่ลำไส้เล็ก และเชื่อมต่อสายหน้าท้องกับยา levodopa gel โดยใช้ปั้มยาเข้าสู่ลำไส้เล็กตลอดเวลา ทำให้การดูดซึมยาดีขึ้น ไม่ถูกรบกวนโดยอาหารในกระเพาะอาหาร ทำให้ใช้ยาลีโวโดปาขนาดน้อยลงและยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้นมาก ช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสันในระยะรุนแรง และสามารถปรับขนาดของยาที่ให้ได้ตลอดเวลาตามอาการของโรค และวิธีที่สอง คือ การผ่าตัดสมอง Deep Brain Stimulation เป็นการฝังสายไฟในสมองส่วนลึก โดยการเจาะผ่านรูเล็กๆ บริเวณกะโหลกศีรษะ และเชื่อมต่อสายเข้ากับแบตเตอรี่ที่มีไมโครชิปขนาดเล็กที่ฝังไว้บริเวณหน้าอก ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมได้ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น ภาวะแทรกซ้อนต่อยาน้อยลง เนื่องจากสามารถลดปริมาณยาที่กินอยู่ลงได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนอาการทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น ความจำหลงลืม การนอนหลับที่ผิดปรกติ ฝันร้าย ประสาทหลอน ความผิดปรกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันต่ำ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่ ความเสื่อมทางสมรรถภาพทางเพศ ท้องผูก เหล่านี้เป็นอาการที่พบได้ของโรคนี้ และสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้

ปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายของเซลล์ตัวอ่อน (Stem Cell) หรือ วิธีล้างสารตกค้างจากร่างกาย (Chelation) เนื่องจากเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันนักวิจัยได้มีการตั้งสมมุติฐานและทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรคนี้และหาทางหยุดยั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง รวมทั้งทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสและความหวังของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต นำเสนอนวัตกรรมสำหรับผู้หญิงการรักษาเนื้องอกมดลูกโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยี HIFU
๑๗:๔๙ 'ม.ศรีปทุม' เปิดเวทีประชุมอาเซียน-จีน เสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและธุรกิจยั่งยืนในภูมิภาค
๑๗:๒๙ ชาว COOL สนุกลั่นข้ามขุนเขาส่งท้ายปี เทศกาลดนตรีสุด POP ติด Trend X อันดับ 1 ใน 'BBLAM และ ขนมทอดกรอบตราปูไทย Present COOL Windy Fest 2024 : POP OUT
๑๖:๕๗ PRI โชว์ผลงาน 9 เดือนแรก รายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท ส่งบริษัทย่อยลุยตลาดบริการอสังหาฯ เมืองท่องเที่ยว พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ด้วยบริการระดับมืออาชีพ
๑๖:๒๒ LH Bank ออกแคมเปญประกันสัตว์เลี้ยง คุ้มครองครบ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
๑๖:๐๒ MOSHI x Fluffy Omelet โปรเจกต์คอลแลปส์ Thai Designers เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ ขนทัพเหล่าคาแรกเตอร์สุดคิ้วท์ สร้างสีสันส่งท้ายปี
๑๖:๔๐ หัวเว่ย คลาวด์ เสริมศักยภาพดีทีจีโอ เปิดตัวโมเดลภาษาขนาดใหญ่ รองรับ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ เป็นครั้งแรกของโลก
๑๖:๓๔ โอกาสของนักศึกษามาแล้ว! กสิกรไทยเปิดรับสมัคร KBank Young Scholarship ปี 2568 เปิดเส้นทาง มอบทุนเรียนต่อ
๑๖:๐๓ นายแพทย์ตนุพล หรือหมอแอมป์แห่ง BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post ตอกย้ำวิสัยทัศน์ Scientific Wellness Life Blueprint ผลักดันประเทศไทยสู่ Wellness
๑๖:๒๔ TOMY Company จับมือสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา เปิดตัวลูกข่าง BEYBLADE X เวอร์ชันสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา 2 รุ่น ใน 10 ประเทศและดินแดนในเอเชีย วันที่ 25 มกราคม