สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เล็งเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นกระทันหันนอกโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งการวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นดังกล่าวจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ ทำตามหลัก Chain of Survival หรือ ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต ดังนี้
1. Early Access คือ เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติที่อาจเกิดจากหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 ทันที
2. Early CPR การเริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตในทันที ซึ่งการกดหน้าอกที่มีประสิทธิภาพนั้นช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ 2-3 เท่า โดยการกดหน้าอกนั้นให้นำผู้ป่วยนอนราบบนพื้นแข็งและกดนวดหัวใจ โดยกดที่กลางหน้าอก เหยียดแขนตรึงตั้งฉากกับผู้ป่วย จากนั้นออกแรงกดให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โดยให้กดต่อเนื่องและสม่ำเสมอด้วยอัตรา 100 ครั้งต่อนาที หรือตามจังหวะเพลงสุขกันเถอะเรา
3. Early Defibrillation เมื่อมีข้อบ่งชี้ให้การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าให้รวดเร็วที่สุด ภายใน 3-5 นาที โดยนำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาติดที่ตัวผู้ป่วยตามคำแนะนำที่บอกไว้ที่เครื่อง หยุดรอให้เครื่องวิเคราะห์ผู้ป่วย จากนั้นหากเครื่องแนะนำให้ทำการช็อค ห้ามทุกคนสัมผัสตัวผู้ป่วย และกดช็อคที่ตัวเครื่อง AED เมื่อเสร็จแล้วให้ทำการกดหน้าอกต่อเนื่อง (ภายใต้กำกับของศูนย์ 1669)
4. Early ACLS ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (โดยทีมกู้ชีพที่ได้รับการประสานการช่วยเหลือเพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป)
5. Integrated Post Cardiac Arrest Care ให้การดูแลหลังจาก CPR อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ
สำหรับฟิลิปส์ มีนโยบายที่จะผลักดันความรู้และความเข้าใจเรื่อง ห่วงโซ่ของการรอดชีวิตสู่ภาคพื้นประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์และนโยบายของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และตระหนักดีถึงความสำคัญของการนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดังนั้นในวันนี้ ฟิลิปส์มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ จำนวน 10 เครื่อง ให้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อนำไปส่งมอบให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามนโยบาย เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับคนไทยที่ประสบกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้อย่างทันท่วงที