เผย ผู้หญิงเสี่ยง 'อัมพฤกษ์ -อัมพาต' เฉียบพลัน

จันทร์ ๒๐ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๓:๑๘
สคร.7 เผย 1 ใน 5 ของผู้หญิงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนะหมั่นสำรวจร่างกาย หากพบความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราพิการหรือเสียชีวิตได้

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยมีคำขวัญในการรณรงค์ คือ“โรคหลอดเลือดสมอง: เพราะฉันเป็นผู้หญิง... (เสี่ยง)” ซึ่งประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ สูงขึ้นทุกปี พบ 1 ใน 5 ของผู้หญิงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 85 ปีขึ้นไป แต่หากประชาชนรู้จักวิธีการดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิด ปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้มีอาการของแขน ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วตั้งแต่แรกจะสามารถลดอัตรา ตายหรือความพิการ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติญาติสายตรงเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเตือนที่สำคัญ คือ สมองขาดเลือดชั่วคราว โดยพบผู้ที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว 1 ใน 5 คน จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน และส่วนใหญ่จะพบใน 2-3 วันแรก หลังจากมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว สำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองแตกนั้น อาจมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการซึม หมดสติและเสียชีวิตได้

ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีอาการอ่อนแรงของหน้า แขน ขา ซึ่งจะเป็นซีกเดียวของร่างกาย สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการพูด การมองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง และมีปัญหาการเดิน มึนงง สูญเสียสมดุลของการเดิน โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สิ่งที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากพบอาการข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง จะสามารถช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด

สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด ไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก จำกัดการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้เข้ารับการ รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความ เสี่ยงจากความพิการลงได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 .นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๑๗ เขตป้อมปราบฯ กวดขันดูแลความปลอดภัย-จอดรถกีดขวางทางสัญจรรอบงานวัดภูเขาทอง
๐๘:๔๕ คณะผู้แทนไทย สรุปความก้าวหน้า 10 ประเด็นการเจรจา COP29 ช่วงสัปดาห์แรก เตรียมพร้อมก่อนการประชุม High-level
๐๘:๓๐ เมื่อโลกของสื่อ.ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI ไทยพีบีเอสชวนส่องอนาคตสื่อในงาน AI Horizons: The Future of Media
๐๘:๕๙ ต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของร้าน Madison Steak Avenue
๐๘:๐๙ อาจารย์และศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี เป็นตัวแทนไทยเข้าแข่งขัน Global Chef Challenge Final 2024 ที่สิงคโปร์
๐๘:๔๙ ฉลองเปิด SIN Rooftop Bar
๐๘:๒๘ กทม. เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล-เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไอกรนในสถานศึกษา
๐๘:๔๙ กทม. ขับเคลื่อนแผนป้องกันฝุ่น PM2.5 - ตรวจสอบสถานประกอบกิจการ-แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
๐๘:๑๖ เฮอร์บาไลฟ์ ปล่อยของ! ฟอร์มูล่า วัน ซีเล็คท์ โปรตีนจากพืชใหม่ล่าสุด ตอบโจทย์คนรักสุขภาพยุคใหม่
๐๘:๓๓ อำพลฟูดส์ ร่วมส่งเสริมทักษะประกอบอาชีพผู้พิการจังหวัดราชบุรี หวังสร้างรายได้ให้ผู้พิการ และยกระดับคุณภาพชีวิตในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม