นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหม ด้วยความร่วมมือของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หนองคาย กับนายณัฐปคัลภ์ ไชยมุติ อาจารย์ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ โรงเรียนสันติรักษ์ จังหวัดหนองคาย ได้ทอผ้ายกไหมอีรี่ดังกล่าว มีความยาว 1.80 เมตร กว้าง 45 เซ็นติเมตร ใช้เวลาทอ 2 สัปดาห์ โดยในกระบวนการทอนั้น เส้นยืนได้ใช้ไหมพื้นบ้านย้อมไม้ฝางและลูกหม่อน เส้นพุ่งใช้เส้นไหมพื้นบ้านย้อมด้วยไม้ฝาง ลูกหม่อน ฝางผสมคราม ส่วนเส้นยกใช้ไหมอีรี่ซึ่งมีลักษณะเส้นใยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนไหมพื้นบ้านทั่วไปนำมาย้อมด้วยกาแฟ
สำหรับลวดลายที่ใช้ในการทอนั้น เป็นลายที่พบได้บ่อยในผ้าทอพื้นบ้านอีสานทั่วไป แต่ยังไม่เคยนำผ้ายกมาทอด้วยลายดังกล่าว ครั้งนี้ได้มีการสร้างสรรค์โดยได้ประยุกต์การทอด้วยองค์ประกอบของผ้ายกแบบโบราณ เชิงชายใช้ลายหมากจับยอยแทนลายกรวยเชิง ซึ่งเป็นลายที่นิยมใช้ทอตีนผ้าซิ่นของอัญญาเมืองอุบลราชธานี คั่นด้วยลายดอกจันทร์แปดกลีบ ซึ่งเป็นลายท้องถิ่นพื้นบ้านอีสาน สังเวียนผ้าทอเป็นลายพญานาคกับบั้งไฟพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดหนองคาย ส่วนแทงท้องลายทอเป็นลายหมากจับยอย ท้องลายหรือกลางผ้าเป็นลายแก้วชิงดวง โดยใช้ลายดอกจันทร์แปดกลีบมาแทรกไว้ตรงกลางดวงแก้ว
ผ้ายกไหมอีรี่ผ้ายกผืนแรกของไทยที่ทอจากไหมอีรี่และทอเป็นลายท้องถิ่นพื้นบ้านอีสานผืนนี้จึงเป็นผ้ายกที่มีผิวสัมผัสและความสวยงามของเส้นไหมและลวดลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอันทรงคุณค่ายิ่ง
ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2558-7924-6 ต่อ 104