แรงงานไทยในบริบทใหม่ : การเรียนสายอาชีพเพื่อชาติ

อังคาร ๒๑ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๐๙:๕๘

การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ต้องทำทั้งมาตรการจูงใจและภาคบังคับ เปลี่ยนมุมคิดผู้ปกครองในโลกความจริง คาด 10 ปีเห็นการเปลี่ยนแปลง มีสัดส่วนสายวิชาชีพมากกว่าสายสามัญ ลดจำนวนแรงงานล้นเกิน(ว่างงาน)ทั้งที่ขาดแคลน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงสร้างแรงงานของไทยมีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ภาคเศรษฐกิจของไทยใช้แรงงานเกินกว่าขีดความสามารถในการเพิ่มของกำลังแรงงานของไทย (Over-employment) ต่อเนื่องกันมานาน ดัชนีชี้วัดที่สำคัญสามารถดูได้จากจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่องจนอัตราการว่างงานของไทยถึงจะผันผวนเป็นรายไตรมาสไปบ้างแต่ก็มีอัตราค่อนข้างต่ำอยู่ในช่วง 0.5-2.0% ของกำลังแรงงาน

ยิ่งพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่าอัตราการว่างงานโดยรวมแต่ละเดือนยังสูงกว่าปี 2556 มาโดยตลอด แต่ยังไม่สูงพอที่จะทำให้การมีงานทำของประเทศไทยลดจำนวนการจ้างงานลง อาทิ ในเดือนมกราคม 2557 มีผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน เดือนสิงหาคมก็ยังมีผู้มีงานทำถึง 38.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% ต่อเดือนจึงไม่น่าแปลกใจว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณจะยังคงมีอยู่แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างก็ตาม ปัญหาที่พบคือมีการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาขาดแคลนโดยดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนในทุกระดับการศึกษา เช่น ในปี 2556 ระดับม. ปลาย และ ปวช. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 2 เท่า ระดับ ปวส. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลน 2.1 เท่า และระดับ ป. ตรี ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 3.5 เท่า

ในปี 2557 กรมการจัดหางานได้คาดการณ์ผู้ที่จบการศึกษาและจำนวนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่จบและเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับล่างเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น มีผู้จบมัธยมต้นสูงถึง 741,931 คนและถ้าไม่เรียนต่อต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีจึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ซึ่งก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.8 ยิ่งเรียนถึงระดับมัธยมปลายสายสามัญแล้วก็ยิ่งจะออกสู่ตลาดแรงงานน้อยมากเพียงร้อยละ 4.2 เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ส่วนผู้ที่เรียนระดับ ปวช.ซึ่งมีจำนวนผู้จบการศึกษาน้อยกว่าผู้เรียนมัธยมปลายมากอยู่แล้ว และมีผู้ที่จะออกมาทำงานเพียงร้อยละ 8.9 โดยผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบ ปวช. เรียนต่อ ปวส.มากกว่าร้อยละ 70 ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีจำนวนผู้จบ ปวส.เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้น ถ้าจะรวมผู้จบสายอาชีพทั้ง 2 ระดับเข้าด้วยกันก็ยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.8 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดเท่านั้นเทียบกับผู้จบระดับปริญญาตรีซึ่งมีสัดส่วนของผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 61.5 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด

เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการจ้างแรงงานในตลาดแรงงานจะเห็นว่าเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางอย่างหนักตลอดมา ยิ่งคำนึงมิติของคุณภาพของผู้จบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพที่มีสัดส่วนของผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบกับสายที่มิใช่วิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแล้วปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาอันยาวนานนี้ได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลกได้ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการให้มากขึ้นด้วยการวิจัยและพัฒนาการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยมากขึ้น การจะทำเช่นนี้ได้ประเทศไทยจะต้องลดสัดส่วนของการใช้ผู้จบการศึกษาในระดับ ม. ต้น (หรือต่ำกว่า) ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างให้น้อยลงและพยายามปรับปรุงอุปสงค์ต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับกลาง คือ ม. ปลาย รวมถึง ปวช. ให้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อสมมติฐานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า การศึกษาในระดับนี้ฝึกอบรมเพิ่มทักษะได้ง่ายสามารถปรับตัวกับกระบวนการผลิตได้ดีกว่า

เท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายอาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะระดับ ปวช. แต่ผู้ปกครองกลับต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ (เพื่อหวังให้ลูกได้จบปริญญาตรี) โดยมีสัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 66:34 และอยู่ในระดับนี้มานานนับสิบปี และผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาก็พบว่าสัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้นมีแต่จะเลวลงเช่นในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้มีสัดส่วนแย่ลงเหลือประมาณ 71:29 ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ ประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอดอีกมิติหนึ่งคือมิติคุณภาพและการเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งทำให้ผู้ที่จบสายอาชีพยังคงว่างงานอยู่อีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากขาดสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการ ทำให้กำลังแรงงานสายวิชาชีพช่างซึ่งมีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งจะน้อยลงไปอีก

การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้นนั้น ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอเห็นว่าต้องทำ 2 มาตรการควบคู่กัน คือ มาตรการจูงใจ โดย 1)ต้องปรับทัศนคติของพ่อแม่ที่ต้องการใบปริญญา และนักเรียนเองที่เห็นว่าเรียนสายสามัญมีศักดิ์ศรีกว่าเรียนสายอาชีพ ใช้การแนะแนวเชิงรุกเสริมด้วย Social Media ช่วยในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง 2) ต้องสร้างสถานศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กพิเศษที่ต้องการเรียนใน Smart TVET School เพื่อเป็น การสร้าง“เด็กอาชีวะรุ่นใหม่” โดยการคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบในทุกจังหวัดใหญ่หรือภูมิภาคของประเทศเพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่มีครูดี สถานที่ฝึก (เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม) สำหรับเด็กเก่งเข้ามาเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในสายช่าง (อุตสาหกรรม) ได้รับทุนการศึกษา วางหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบกิจการหรือผู้ใช้นักศึกษาที่จบ เพื่อการันตีผู้จบเหล่านี้ว่ามีงานทำและมีรายได้ดี 3) สำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสายช่างอื่นๆ อาจจะเน้นในทางปฏิบัติร่วมกับผู้ใช้หรือสถานประกอบกิจการให้มากที่สุด อาจจะปรับลดหลักสูตรให้เหลือระยะเวลาเรียนภาควิชาการและฝึกงานจริง (ระบบทวิภาคี) อย่างละเท่าๆ กัน โดยสถานศึกษาพิจารณาจัดหลักสูตรให้ชัดเจนว่า จะให้เด็กที่จบไปทำงานกับใครที่ไหน(ดูตลาดแรงงานที่รองรับเป็นหลัก)

4) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพต้องร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และจะต้องไม่แตกต่างจากผู้จบระดับปริญญาตรีสายอาชีพมากนัก อาทิ ผู้จบ ปวช. ได้เงินเดือน 1 หมื่นบาทขึ้นไป จบ ปวส. 1.2-1.3 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นต้น และสำหรับเด็กจบ Smart ปวช. อาจจะให้เงินเดือนที่สูงกว่าเช่นเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น 5)ให้ความสนใจกับอาชีวศึกษาเอกชนมากกว่า 400 แห่ง ที่ควรต้องได้รับการดูแลพัฒนาให้ดีขึ้น ให้สามารถผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้รั้วเดียวกันกับ สอศ.

สำหรับมาตรการเชิงบังคับ ซึ่งดร.ยงยุทธ เห็นว่าควรจะนำมาใช้ได้แล้ว นั่นคือ การเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนต่อจากม. 3 เป็นสายสามัญต่อสายอาชีพปัจจุบันจาก 67:33 ให้เป็น 50:50 ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยควรดำเนินการตามแนวทางของสภาการศึกษาฯ ได้แก่ จะต้องจัดตั้งผู้เข้ามารับผิดชอบหาวิธีการในการคัดกรองนักเรียนในระดับ ม. 3 ที่จะจบว่าสมควรจะเรียนต่อสายสามัญ หรือเรียนต่อสายอาชีพ โดยใช้มาตรการทางด้านงบประมาณ (Unit Cost) มาใช้ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน อาทิ ให้การสนับสนุนรายหัวผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญร้อยละ 30-50เป็นต้น จำกัดจำนวนนักเรียนสายสามัญต่อชั้นเรียน โดยมีข้อตกลงว่าจะมีนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง และถ้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว และโดยภาพรวมของประเทศจะร่วมกำหนดเป้าหมายว่าแต่ละปีจะลดผู้เรียนสายสามัญได้ปีละเท่าไร และในการบังคับใช้ข้อตกลงคือ เมื่อครบจำนวนโควต้าแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวหรือผู้เรียนไม่ได้รับเงินกู้เรียนเพื่อให้ได้เป้าหมาย 50:50 ให้เร็วที่สุด

นอกจากนั้นควรเน้นผู้เรียนสายมัธยมศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบหรือจำนวนผู้จบ ม. 3 ที่จะเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจจะใช้มาตรการอุดหนุนหรือการกู้ยืมเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่มัธยมศึกษาสายอาชีพฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีควรจะได้รับการอุดหนุนรายหัวที่สูงกว่าการเรียนสายอื่นๆ ถ้าทำได้จริงจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนให้มีผู้จบมัธยมศึกษาสายอาชีพโดยเฉพาะมัธยมสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจและจริงจังในที่สุดอาชีวศึกษาก็จะกลับมาสร้างชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ.

ดูบทความฉบับเต็มได้ที่ ?

http://tdri.or.th/tdri-insight/thai-labour-force/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม