แรงงานไทยในบริบทใหม่ AEC ต้องเร่งสร้างบุคลากรท่องเที่ยว

พุธ ๒๒ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๒๗
นักวิชาการแนะภาคท่องเที่ยวไทยในบริบทใหม่เออีซี ต้องเร่งสร้างบุคลากรรองรับให้เพียงพอและมีความพร้อมโดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ ก่อนถูกแย่งงานจากประเทศที่พร้อมกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงความท้าทายของแรงงานไทยเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยระบุว่า สำหรับประเทศไทยเมื่อรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนแล้วในปลายปีหน้า (2558) ยังไม่ต้องห่วงมากนักเกี่ยวกับ 7 วิชาชีพที่ได้ทำข้อตกลงกันเอาไว้คือ แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรรม ช่างสำรวจ สถาปนิก พยาบาล และวิชาชีพบัญชี ซึ่งทุกกลุ่มจะมีสภาวิชาชีพดูแลอยู่แล้วตามกติกา เมื่อเริ่มเคลื่อนย้ายบุคลากรเสรีปลายปีหน้าทุกประเทศที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบในการประกอบวิชาชีพเหล่านี้ในประเทศไทยอยู่ดี ขณะเดียวกันแรงงานฝีมือของไทยปกติไปทำงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยคือประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก ส่วนการขาดแคลนบุคลากรในบางสาขา อาทิ สาขาด้านที่เกี่ยวข้องกับช่างเทคนิคหรือช่างฝีมือชั้นสูง ทุกวันนี้มีแรงงานจากต่างประเทศทำงานอยู่ในประเทศไทยนับหมื่นคนอยู่แล้วภายใต้กรอบกติกาการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยหรือในกรณีที่ขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษาและ/หรือการวิจัยก็สามารถนำเข้าและขอใบอนุญาตทำงานได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรจากต่างประเทศทำงานในภาคการศึกษานับหมื่นคน

สิ่งที่น่าห่วงคงเป็นอาชีพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ทำข้อตกลงกับประเทศในกลุ่ม 10 ประเทศไปแล้วคือ ได้มีการลงนามตามกรอบความร่วมมือแห่งอาเซียนใน 6 สาขาอาชีพ (32 ตำแหน่งงาน) ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว(MRA- Tourism Professional (TP)) ซึ่งประกอบด้วย ด้านบริการโรงแรม (Hotel Services) มีแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ด้านการเดินทาง (Travel Services) งานบริษัททัวร์ และตัวแทนท่องเที่ยว ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวในอาเซียนมากกว่า 25 ล้านคน เมื่อพิจารณาสภาพตลาดแรงงานด้านท่องเที่ยวพบว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนนี้ ประเทศไทยขาดแคลนมากที่สุด ขณะที่มาเลเซียขาดแคลนบางสาขา ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีแรงงานส่วนเกิน

จาก ข้อมูลปี 2556 ประเทศไทยมีแรงงานทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากกว่า 4.8 ล้านคนจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 24 ล้านคน กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวของไทยทั่วประเทศ ซึ่งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทยยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ด้านภาษาต่างประเทศและความสนใจในอาชีพด้านการท่องเที่ยว ถ้าจะเทียบกับประเทศที่มีแรงงานส่วนเกินจำนวนมาก และมีประสบการณ์อยู่ในกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแรงงานระดับล่างทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนอยู่แล้ว อาทิ แรงงานอินโดนีเซีย พม่าและไทยทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียรวมหลายล้านคน รวมทั้งบางอาชีพในประเทศสิงคโปร์ ขณะที่แรงงานเวียดนามทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่หลายแสนคนและมีบางส่วนลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่แรงงานพม่าทำงานที่ประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และทำงานอยู่ในมาเลเซียหลายแสนคน อย่างไรก็ตาม แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนบางส่วนถูกกฎหมายบางส่วนผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนมากที่ลักลอบทำงานอยู่ในภาคบริการโดยเฉพาะภัตตาคาร ร้านอาหาร และกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ประเด็นที่สำคัญมีบางประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์มีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาทำงานในสาขาบริการไม่ว่าจะเป็นงานด้านการต้อนรับ งานนักร้อง งานแม่บ้าน งานด้านบริหาร เป็นต้น ซึ่งอาศัยความได้เปรียบด้านภาษาอังกฤษ และเป็นภาษากลางของอาเซียน และความมุ่งมั่นในการทำงานในต่างประเทศมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน อีกประเทศที่น่าจับตามากที่สุดคือ แรงงานจากประเทศเวียดนามมีการเตรียมพร้อมเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรเป็นปีๆ และบางส่วนยังเรียนภาษาไทยอีกด้วย กอรปกับประเทศสังคมนิยมเวียดนามมีจำนวนแรงงานมาก มีค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก จึงมีโอกาสเข้ามาแย่งงานที่คนไทยเกี่ยงกันทำในหลายตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนแรงงานทั้งระดับฝีมือและกึ่งฝีมือ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเรียนการสอน มีผู้จบการศึกษาเกี่ยวกับสาขาการท่องเที่ยวในระดับประกาศนียบัตรจนถึงระดับปริญญาตรีจำนวนมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในภาคบริการโดยเฉพาะการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะบางคนที่จบคิดเลยเถิดว่าเป็นงานที่ หนัก ต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี และไม่มีอนาคต

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่าโดยสรุป ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบหลายประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวแต่เนื่องจากขาดความพร้อมของบุคลากรโดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งภาษาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวนอกอาเซียน อีกทั้งผู้จบการศึกษาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคิดแต่เพียงว่าเรียนอะไรก็ได้จบง่ายๆแต่เมื่อจบแล้ว "เสียของ" ไม่สนใจทำงานในสาขาเกี่ยวกับท่องเที่ยว ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีความมุ่งมั่น (Commitment) ที่จะเร่งพัฒนาบุคลากรเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในที่สุดประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนไม่มากดังที่คาดหวังไว้ แต่อาจเสียเปรียบให้กับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอาเซียนที่มีความพร้อมกว่าประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมา การเร่งจัดทำมาตรฐานสมรรถนะและทดสอบสมรรถนะให้กับแรงงานไทยที่ทำงานและที่คาดว่าจะเข้ามาทำงานจะทำให้แรงงานไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้กับทุกฝ่ายที่จ้องจะแย่ง 32 ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศไทย.

ติดตามบทความฉบับเต็ม แรงงานไทยในบริบทใหม่เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน ได้ที่ http://tdri.or.th/tdri-insight/thai-labour-in-aec-context/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version