นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเนปิดอร์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 20-26 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุม
การประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว ได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกรอบแผนงานต่างๆ และมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญหลายฉบับเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับหุ้นส่วนความร่วมมืออื่นๆ รวมถึงได้มีการทบทวนและปรับปรุงโครงสร้าง/กลไกการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้ AMAF ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ประชุม AMAF ครั้งที่ 36 ได้มีมติเห็นชอบเอกสารและรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานในกิจกรรมสำคัญของอาเซียน ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของ สศก. ในฐานะหน่วยงานดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ดังนี้
การให้ความเห็นชอบแผนงานภายใต้กรอบบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security: AIFS Framework) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารอาเซียน (Strategic Plan of Action on Food Security: SPA-FS) สำหรับปี 2558-2563 (2015-2020) ที่ได้ขยายองค์ประกอบ (Component) เพิ่มเติมให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาการเกษตรที่เสริมสร้างโภชนาการ (Nutrition-enhancing agriculture development)
การให้ความเห็นชอบ MOU on ASEAN Cooperation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme (2015-2019) และรัฐมนตรีอาเซียนได้ร่วมลงนามใน MOU ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและป่าไม้ระหว่างประเทศสมาชิก ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าอาหาร และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าใน การดำเนินงานขององค์การสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ซึ่งมีการแต่งตั้งผู้จัดการทั่วไปคนใหม่ และการจัดทำกฎระเบียบการบริหาร รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารด้านการเงินของสำนักเลขานุการ APTERR และความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดตั้งโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารแห่งภาคพื้นอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ให้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค
ทั้งนี้ จากผลการประชุม AMAF ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้องดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาด้านอาหาร การเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน ที่มุ่งเน้นความร่วมมือที่ก่อให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป