ห้องเรียนละครสร้างปัญญา เปลี่ยนมุมมองครู สู่ผู้เรียน

อังคาร ๒๘ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๔:๑๘
สายหนึ่งในวันสุดสัปดาห์ ที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ “ครูสมจิต ผอมเซ่ง” อาจารย์ชีววิทยา โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา พูดตอนหนึ่งว่า มากกว่า20 ปีในอาชีพครู มีบางอย่างที่เคยมองข้ามไป

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนจนมองข้ามที่อ้างถึงถูกขยายความต่อว่าคือวิธีการสอนของตัวเอง เหตุเพราะในอดีตเคยมองความปรารถนาดีต่อศิษย์คือความรู้ที่อัดแน่นในชั้นเรียน ความมีมาตรฐานในการประเมินผลรอบคอบกับการตรวจการบ้าน ไม่นับเรื่องจริยธรรม ระเบียบวินัยที่คนเป็นครูต้องมีเป็นทุน

“ที่ผ่านมาเราไปมองแค่เรื่องของความรู้ แต่ไม่เคยสื่อสารกับเด็กเลย ไม่เคยสอนวิธีคิด ครูรู้ว่าหนึ่งบวกหนึ่งคือสอง ดังนั้นต้องบอกให้เด็กรู้แบบเราให้ได้ พยายามออกข้อสอบหลายแบบ พอเด็กสอบตกจะให้กลับไปทบทวนใหม่และสอบซ่อมจนกว่าจะได้ แต่เอาเข้าจริงคำตอบไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว เหมือนกับการเป็นคนดีคนเก่ง ไม่ได้เจาะจงแค่ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง เรื่องเดียวกันหากตั้งสมมติฐานต่าง มองในมุมที่ต่างออกไป ผลลัพธ์จะต่างออกไป ครูเองก็ไม่ได้ถูกทุกเรื่อง”

“สังเกตเด็กนักเรียนถ้าครูบอกให้อ่านหนังสือเพื่อมากาข้อสอบ นักเรียนจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าบอกจะสอบแบบเติมคำหรือทำเป็นโครงงานจะรู้สึกไม่ชอบ เพราะต้องคิดมากกว่า ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เราเองมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย” ครูสมจิตตั้งข้อสังเกต

ทัศนคติที่เปิดกว้างซึ่งว่าด้วยความเข้าใจระหว่างผู้สอน-คนเรียน ถูกนำมาแลกเปลี่ยนและแฝงไปกับทักษะการละครตลอด 4 วัน ใน “ค่ายต่อยอดครูละครสร้างปัญญา ครั้งที่2” ซึ่งมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ต่อยอดจากค่ายแรกเมื่อปีก่อน เติมเต็มจากแนวทางสร้างทักษะทางปัญญาแบบโครงการ “ละครสะท้อนปัญญา” โดยที่กลุ่มมะขามป้อมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เลือกใช้เครื่องมือฝึกทักษะทางปัญญาที่ชื่อ “ละครชุมชน” กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษามาแล้ว

พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้จัดการโครงการละครสะท้อนปัญญา มองว่า การขยายขอบเขตทำกิจกรรม จากกลุ่มเยาวชนสู่กลุ่มครูเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันในเรื่องความสร้างสรรค์ เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเรียนไม่ได้มีแค่การบอกและจดจำ แนวคิดของศิลปะที่แทรกในกระบวนการละครจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียน-ผู้สอน สื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เกิดวิธีการใหม่ๆ เพราะละครหนึ่งเรื่องล้วนผ่านการคิด วิเคราะห์ และวางแผนก่อน นอกจากนี้การชักชวนครูมาร่วมกิจกรรมที่เยาวชนสนใจช่วยเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีลักษณะความชอบ มีความสนใจที่จะแตกต่าง วิธีการของครูจึงต้องเปลี่ยน ไม่ใช่การสั่งให้ทำอีกต่อไป แต่ต้องกระตุ้นให้คิดและค้นหาความถนัดร่วมกัน

“ศุภิญดา วันล่ะ” ครูโรงเรียนกาวิละอนุกูล จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์กับกลุ่มนักเรียนบกพร่องทางสติปัญญา เห็นด้วยกับความคิดข้างต้น เนื่องด้วยในอดีตเคยมองการแสดงละครเป็นแค่เรื่องบันเทิง แต่เมื่อร่วมกิจกรรมได้ค้นพบแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้สะท้อนความเป็นตัวเอง จากการพูด การร้องเพลง การแสดงท่าทางต่างๆ เป็นแนวทางใหม่ๆที่จะดึงความสนใจ และยืดเวลาการเรียนให้นานขึ้น

“ละครที่เด็กเล่าออกมา สะท้อนในตัวตนของเขา ทำให้เรารู้จักเขามากกว่าเดิม ได้เห็นความกังวล ความดีใจ เป็นความท้าทายของพวกเขาที่อยากจะทำให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ” เธอบอก

มากกว่าเรื่องราวในรั้วโรงเรียน พญ.ปาริชาต วงศ์เสนา (หมอน้อย) ประธานหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังสะท้อนประสบการณ์ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับนักศึกษาแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)โดยใช้เครื่องมือละครเข้าร่วมด้วยว่า ละครช่วยเปลี่ยนภาษายากๆทางการแพทย์ไปสู่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกล้าซักถามอาการของโรค ได้เล่าภูมิหลังของตัวเองที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งการสื่อสารที่ว่านี้ได้ช่วยให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้นและตรงเป้าปัญหามากขึ้น

“ละครคือเครื่องมือที่ไปสื่อสารกับชุมชน แต่ไม่ใช่แค่แสดงบทบาทสมมติ เช่น จะเล่นเป็นคนมีโรคมะเร็ง ต้องเข้าใจความทุกข์ของคนที่เป็นโรคจริงๆให้ได้ก่อน ต้องเข้าใจความกลัวที่เขามี สิ่งเหล่านี้ได้จากการซักถาม การสังเกต แพทย์เองก็ใช้เวลานี้สื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การกินอาหาร สุขลักษณะ สำรวจไปในตัวว่ามีอะไรที่เป็นปัจจัยต่อสุขภาพ”

“มันคือการรู้ ‘โลก’ ของคนไข้ รู้มิติมากกว่าจะสนใจเขาเป็น ‘โรค’ อะไร ทัศนคติเหล่านี้ได้มาจากการทำงานร่วมกัน ละครเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทำงานได้เห็นมิติของผู้รับการรักษาตัวละครก็พัฒนาได้ให้มีมากกว่าความบันเทิง เราทำให้ละเอียดขึ้นได้ ให้ข้อมูล สร้างมิติมากขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือการดูแลสุขภาพ”ครูน้อยนิยามถึงทักษะการละครที่นำไปสร้างสรรค์ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

กระบวนการละครจึงเสมือนเครื่องมือสื่อสารและสะพานเชื่อมความคิดระหว่างกัน เป็นทัศนคติที่เปิดกว้าง และให้โอกาสกับทุกคนต่างร่วมขีดเขียนในแบบที่ต้องการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ