ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหา “ขยะมูลฝอยและน้ำเสีย” นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศสำหรับกรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ทำให้กรุงเทพมหานครจะต้องกำจัดขยะที่มีมากถึง 10,000 ตัน/วัน อีกทั้งปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลอง ที่เกิดจากชุมชน
ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงเร่งดำเนินการด้วยการกำหนดนโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น มหานครสีเขียว หรือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City) โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ในโครงการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ภายใต้แนวคิด Bangkok Green Community ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการ และเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ที่กรุงเทพมหานครได้เคยดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2552–2556 เพื่อให้ต่อเนื่อง และมีความยั่งยืนในการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ประกอบด้วย โครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน และโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส โครงการทรัพย์ทวี-บุญทวีรีไซเคิลในสถานศึกษาและโครงการสร้างศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนในระดับย่านพื้นที่คลอง 6 ย่านคลองใน 7 เขต โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมแก้ไขปัญหาขยะ น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตนเอง ใช้หลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) และกระบวนการ Zero Waste ร่วมกับการพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปขยะมูลฝอย สู่การค้าเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน
ในปี 2557 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงใช้การถอดบทเรียนความสำเร็จที่ผ่านมาเพื่อนำมาต่อยอดและขยายผลทั้งในระดับชุมชน ระดับย่านคลองใหม่อีก 6 ย่านคลอง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยใช้คลองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมริมคลอง และขยายผลการจัดการขยะ น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ เพิ่มขึ้น 16 แห่ง ประกอบด้วย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) (2) ศูนย์บริการ-สาธารณสุข (3) สถานีขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ จำนวน 1 แห่ง (4) ศาสนสถาน จำนวน 2 แห่ง (5) หมู่บ้านจัดสรร จำนวน 2 แห่ง (6) อาคารสูงหรือคอนโดมีเนียม จำนวน 2 แห่ง (7) ตลาดสด จำนวน 2 แห่ง (8) ร้านอาหาร จำนวน 2 แห่ง และ(9) สถานีบริการน้ำมัน จำนวน 2 แห่ง นอกจากนั้น ในโครงการนี้จัดให้มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานชุมชน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดการประกวดในระดับชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในท้ายสุดว่า กรุงเทพมหานครหวังว่า นอกจากจะได้รับความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนแล้ว โครงการนี้จะช่วยให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยแนวคิด “เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า” โดยการส่งเสริมและเผยแพร่การใช้หลักการ 3R และ Zero Waste ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะ การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการลดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งการจัดการน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง อย่างเหมาะสมก่อนปล่อยทิ้ง รวมทั้งการปรับแต่งภูมิทัศน์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชนและองค์ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และน่าอยู่อย่างยั่งยืน ให้สมกับ “มหานครสีเขียว”