อาจารย์จินดา ตันตราจิณ ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ เปิดเผยว่า การศึกษานั้นจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆมีความเข้มแข็ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการจัดทำศูนย์การเรียนรู้อาเซียนในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากศึกษาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนของเราเองก่อน และไปดูโรงเรียนในต่างประเทศ ไปดูที่ประเทศลาว ทั้งเรื่องหลักสูตร สัญลักษณ์เกี่ยวกับอาเซียน อาหาร ภูมิประเทศ แล้วนำแนวคิดมาปรับเป็นหลักสูตรใช้ในโรงเรียน ซึ่งการเตรียมทุกอย่างเป็นการเริ่มต้นจากตัวเรา เนื่องจากในต่างประเทศมีความเข้มข้นในเรื่องอาเซียนค่อนข้างมาก และไปไกลมาก กระทั่งจวบจนปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้อาเซียนในโรงเรียน ที่ จินดาพงศ์ มีความพร้อม เป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้ให้กับนักเรียนจินดาพงศ์ทุกชั้นปี
โดยเฉพาะ “หน่วยอาเซียนเพื่อนรัก” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีเสียงตอบรับจากผู้ปกครองค่อนข้างมาก ตั้งขึ้นเพื่อปูพื้นฐานให้กับเด็กอนุบาล ตั้งแต่ ชั้นอนุบาล 1 -3 โดยให้เด็กอนุบาลเข้าเรียนสัปดาห์ละ 1 หน่วย เป็นการเพิ่มพูนทักษะด้านสังคม ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่เด็ก โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว อาทิ ผลไม้อาเซียน ในสมาชิก 10 ประเทศ อาเซียน มีผลไม้อะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร หรือเราจับดอกไม้อาเซียนในแต่ละประเทศ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้เด็กเรียนรู้ ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทย ก็มีดอกไม้ลีลาวดี เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึง คุณลักษณะของดอกไม้ลีลาวดี ว่า มีความหมายว่า อย่างไร เป็นดอกไม้ประจำชาติหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
การที่เด็กอนุบาลเมื่อได้ลงลึกการเรียนรู้เหล่านี้ โดยนำสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติใกล้ตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้เด็กได้ซึมซับความอ่อนโยน ความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเด็กได้เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องอาเซียนไปในตัว ด้วยเพราะสิ่งที่ “หน่วยอาเซียนเพื่อนรัก” มุ่งเน้นนั้น เป็นการบูรณาการการเรียน การสอน อย่างรอบด้าน เด็กจะซึมซับความรู้ไปเรื่อยๆ
“ยกตัวอย่างสัตว์เลี้ยง เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงใกล้ตัว ควรจะเป็นสัตว์ประเภทไหน และสัตว์เลี้ยงใน 10 ประเทศอาเซียน มีสัตว์อะไรบ้าง โดย เราจะยกตัวอย่างของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิด มาทีละชื่อ ทีละประเทศ แล้ว หน่วยอาเซียนเพื่อนรัก จะมาบูรณาการกิจกรรมการสอน อย่างสร้างสรรค์ ทั้งการสอนในห้องเรียน และสอนนอกห้องเรียน” อาจารย์จินดา กล่าว