เครือข่ายคณะหุ่นเยาวชน 19 คณะ ที่ร่วมในเทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014 มีหลากหลายประเภท ทั้ง หุ่นสาย โรงเรียนบ้านบางนุ พังงา, คณะบุญมีดวงจันทร์ ภูเก็ต, โรงเรียนบ้านหมูสี นครราชสีมา, คณะช่อชะคราม โรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) สมุทรสงคราม, โรงเรียนนารีนุกูล อุบลราชธานี, โรงเรียนบ้านหนองโสน บุรีรัมย์, คณะหุ่นสายฟางนก ศิษย์เสมา โรงเรียนเขื่อนเข้าพระยา ชัยนาท, หุ่นมือและหุ่นสาย โรงเรียนบ้านสามกอง ภูเก็ต, หนังตะลุง โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ เพชรบุรี, หนังบักตื้อ คณะหนังบักตื้อสื่อสร้างสรรค์ โรงเรียนบ้านเพียมาต (รัฐราษฎร์พิทยาคาร) ศรีสะเกษ, โรงเรียนประชาสามัคคี (หนังปราโมทัย) อุบลราชธานี, คณะเพชรอีสาน มหาสารคาม, หนังใหญ่ กลุ่มเยาวชนวัดบ้านดอน ระยอง, หุ่นเงา กลุ่มเยาวชนลูกขุนน้ำ นครศรี ธรรมราช, หุ่นเงา “ลูกไม้แม่ขาน”ศูนย์การศึกษาโจ๊ะมาโลลือหล่า เชียงใหม่, หุ่นกระบอก โรงเรียนพลูหลวงวิทยา(วัดโคกพลู) ตาก, คณะ ช. เจริญศิลป์ นครสวรรค์, หุ่นมือแบบไม้ค้ำ คณะหุ่นเด็กเทวดา โรงเรียนมัธยมดงยาง มหาสารคาม และ หุ่นเปเปอร์มาเช่หัวโต จากสภาองค์กรเด็กและเยาวชน “จิตวิญญาณห้วยแร้ง” ตราด
น้องไอซ์ นักเชิดหุ่นมือจาก โรงเรียนบ้านสามกอง ภูเก็ต กล่าวว่า “มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นกับหุ่น และเห็นเพื่อนๆ กับผู้ชมสนุกกับการแสดงหุ่นที่เราเล่น ตื่นเต้นที่จะได้ไปกรุงเทพฯ อีกเพื่อร่วมในเทศกาลหุ่นโลก ได้แสดงในวันที่ 2 พ.ย. อยากเห็นหุ่นของประเทศต่างๆ ด้วย” ส่วนสมาชิก คณะหุ่นสายเยาวชน โรงเรียนบ้านหนองโสน บุรีรัมย์ ซึ่งจะเปิดการแสดงในวันที่ 3 พ.ย. ฝากมาว่า “ขอเชิญเพื่อนๆ และครอบครัวมาดูการแสดงหุ่นฝีมือเด็กๆ มาเป็นกำลังใจให้พวกเรา และมาร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์เจ้าฟ้ากันเยอะๆ นะครับ”
ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “หุ่นคือสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ที่มีความสำคัญต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นสื่อแทนใจที่เด็กใช้สื่อสารถึงความรู้สึกนึกคิดและความต้องการ อีกทั้งยังเป็นสื่อที่สามารถส่งผ่านเรื่องราวทางสังคม วัฒนธรรม และคำสอนต่างๆ ให้เด็ก สสส. ก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยการเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างสร้างสรรค์ และสืบสานศิลปะหุ่นไทยอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ทั้งยังสนับสนุนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายหุ่นเด็กและเยาวชนของไทย ผ่าน สสย. และมูลนิธิหุ่นสายเสมาฯ ในการจัดทำโครงการ ‘รวมเหล่าเยาวชนคนรักหุ่น’ โดยรวบรวมหุ่นไทยทั้งหมดที่เป็นของเยาวชนมารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันเผยแพร่ศิลปะหุ่นไทยที่เป็นมหรสพที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน สร้างกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะหุ่นโลก และหุ่นไทย ให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด และเผยแพร่สู่เด็ก เยาวชน โรงเรียน และชุมชน สืบสานอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมชุมชน ตลอดจนเกิดการพัฒนาศักยภาพและทักษะ”
ด้าน นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา โครงการ รวมเหล่าเยาวชนคนรักหุ่น ประสบความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายคณะหุ่นเยาวชนจากทั่วประเทศ ทั้งหุ่นสาย หุ่นเงา หุ่นกระบอก หุ่นมือ ฯลฯ ได้มาพัฒนาทักษะและแลกเลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างสนุกสนาน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานศิลปะหุ่นไทยประเภทต่างๆ ที่เป็นมหรสพดั้งเดิมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยเทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014 นี้ เป็นเวทีสำคัญที่จะสร้างประสบการณ์และความภาคภูมิใจให้คณะหุ่นเยาวชนของไทย มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะพัฒนาต่อไป”