ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง” ที่ “BBB+/Stable”

ศุกร์ ๓๑ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๘:๒๘
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิตยังประกอบด้วยสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะสินเชื่อของบริษัทที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้ลักษณะของสินเชื่อประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทมีอุปสรรคจากกฎระเบียบการกำหนดเพดานการกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นของบริษัทคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีความสามารถในการกระจายแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะยังคงให้การสนับสนุนต่อไป

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง 86.4% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอง ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 และปี 2556 ที่ระดับ 84.6% และ 86.2% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทในเครือที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 10.1% และ 3.2% ตามลำดับ สินเชื่อรวมของบริษัทขยายตัวมากถึงระดับ 23% จาก 22,786 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เป็น 28,018 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 อย่างไรก็ดี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเพียง 3.5% จากสิ้นปี 2556 เป็น 28,985 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากอัตราการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 28.8% รถตู้ 17.9% รถบรรทุก 44.4% รถแท็กซี่ 5.9% และอื่น ๆ อีก 3% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม

แม้สินเชื่อของบริษัทจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 1.42% ในปี 2552 เป็น 0.89% ในปี 2553 วิกฤตอุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ได้ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.43% ในปี 2553 เป็น 0.61% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 ที่ระดับ 0.88% อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.83% ณ สิ้นปี 2555 เป็นผลบางส่วนมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจเป็นผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.14% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.34% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ความท้าทายของบริษัทคือการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถของบริษัทจะสามารถควบคุมและทำให้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นในปีต่อไปได้

การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ยังมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรับได้รับแรงกดดันจากภาวะการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาระดับต้นทุนทางการเงินจากการใช้เงินทุนเพื่อขยายสินเชื่อจากการกู้ยืมระยะสั้นในสัดส่วนที่มาก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและภาระการตั้งสำรองสินเชื่อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากเป็น 2.49% ในปี 2556 จากระดับ 2.39% ในปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับเป็น 17.57% ในปี 2556 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2555

บริษัทได้รับประโยชน์ด้านแหล่งเงินทุนจากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงิน โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร ซึ่งมีผลจำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและประโยชน์จากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งส่งผลทำให้มีความไม่สอดคล้องกันของอายุของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดอายุไม่เกิน 1 ปีรวมกันอยู่ที่ระดับ 58.6% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวของบริษัทลดทอนลงจากการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัท โดยทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะเตรียมวงเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ระยะสั้นซึ่งมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing Risk)

การเพิ่มทุนในปี 2555 ช่วยให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 15.1% ในปี 2555 จาก 11.2% ในปี 2554 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเป็น 13.4% ในปี 2556 และ 12.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น

บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ASK)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version