ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ที่ “BBB-/Stable”

อังคาร ๐๔ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๕:๔๘
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน โครงการก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ที่หลากหลายจำนวนมาก รวมถึงความสามารถในการรับงานก่อสร้างหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากการมีภาระหนี้ที่สูง ความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการระยะยาว และวงจรขึ้นลงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนในโครงการระยะยาวได้โดยยังสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าไว้ในระดับต่ำกว่า 70% หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 2.3 เท่า

บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้สูงสุดในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง บริษัทมีรายได้รวมในปี 2556 อยู่ที่ 4.39 หมื่นล้านบาท และ 2.24 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2557 สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและการมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่หลากหลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากโครงการในประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-75% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานภาครัฐในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ รายได้จากโครงการก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางบก สนามบิน และท่าเรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55%-65% ของรายได้รวม บริษัทมีโครงการลงทุนระยะยาว 5 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่า โครงการทางด่วนในประเทศบังคลาเทศ โครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอลูมิเนียมในประเทศลาว และโครงการสัมปทานการก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในสาธารณรัฐโมซัมบิก โดยในปัจจุบัน บริษัทยังไม่ได้รับรู้รายได้จากการก่อสร้างหรือมีรายได้ประจำอย่างมีนัยสำคัญจากโครงการระยะยาวทั้ง 5 โครงการแต่อย่างใด

ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.5 แสนล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวรวมโครงการสัมปทานการก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในสาธารณรัฐโมซัมบิกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท ตลอดจนโครงการสัมปทานทางด่วนในประเทศบังคลาเทศมูลค่า 3.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานก่อสร้างหลักของทั้ง 2 โครงการยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีโครงการเหมืองหงสาในประเทศลาวมูลค่าอีก 2.53 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้เป็นระยะเวลา 15 ปี ภายใต้สมมติฐานที่ไม่นับรวมโครงการสัมปทานในสาธารณรัฐโมซัมบิกและโครงการทางด่วน มูลค่างานในมือของบริษัทจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ประมาณ 40%-50% ของรายได้ ในปี 2557-2559 บริษัทยังมีงานที่รอลงนามในสัญญาและงานที่ยื่นประมูลในราคาต่ำที่สุดซึ่งประกอบด้วยโครงการป้องกันน้ำท่วม 5 โครงการในประเทศไทยมูลค่า 5.34 หมื่นล้านบาทและโครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ในประเทศลาวมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทด้วย

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งยกเว้นภาระหนี้ที่สูงกว่าประมาณการ โดยอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในครึ่งแรกของปี 2557 อยู่ที่ 8.9% ลดลงจาก 10.7% ในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมิถุนายน 2557 เท่ากับ 72% เพิ่มขึ้นจาก 70% ในปี 2556 จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าจากโครงการรถไฟฟ้า

ในช่วงปี 2557-2559 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ (ไม่รวมรายได้ก่อสร้างจากโครงการระยะยาว 5 โครงการ) อยู่ในช่วง 4.5-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โอกาสที่รายได้ของบริษัทจะต่ำกว่าประมาณการอยู่ในระดับปานกลางเนื่องจากมูลค่างานในมือของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้พื้นฐานที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ โดยที่อัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่และโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่สูงกว่า 8%

ในช่วงปี 2557-2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 65%-70% หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 2-2.3 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินในระดับดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ไว้ไม่เกิน 3 เท่า บริษัทน่าจะสามารถสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานได้อย่างน้อย 2,500 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นในปี 2557 ที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,600 ล้านบาท และในปี 2558 อีกประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในโครงการหงสา อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2 เท่า

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

ITD159A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB-

ITD166A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB-

ITD196A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ