คุณปณชัย ไตรศรี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิไทยคม กล่าวว่า “ผมมองว่าครูมีบทบาทสำคัญต่อผู้เรียนอย่างมาก ครูจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เกิดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างดีก่อนถ่ายทอดสู่นักเรียน หลังจากที่มูลนิธิไทยคมได้นำทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียน ทำให้มูลนิธิฯ มีแนวคิดในการจัดอบรมเรื่อง Photojournalism เพื่อให้ความรู้คุณครูเกี่ยวกับการถ่ายภาพและสามารถนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอได้ โดยพัฒนาการนำเสนองานจากเดิมคือ presentation ธรรมดา สู่การนำเสนองานด้วยภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว โดยก่อนหน้าที่จะจัดอบรมในครั้งนี้ทางมูลนิธิฯร่วมกับโรงเรียนบ้านสันกำแพงค้นคว้าหาข้อมูล พบว่า หากคุณครูมีทักษะด้านนี้จะส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆในระดับลึกขึ้น ถือเป็นอีกขั้นของการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของคุณครูและเด็กไทยครับ
ตลอดการอบรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความกระตือรือร้นและสนุกกับการออกถ่ายภาพและสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลที่สนใจ ได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่างผสมกัน เช่น เทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล การตกแต่งภาพในคอมพิวเตอร์ การนำเสนอผลงานบน Internet และที่สำคัญคือได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง
ดร.สุชิน เพชรักษ์ วิทยากรพิเศษเผยว่า “ความสำคัญและหัวใจของการอบรม Photojournalism คือการใช้กล้องดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการถ่ายภาพออกมาเพื่อใช้เป็นสื่อสะท้อนความคิด ไม่ใช่แค่การบันทึกเหตุการณ์เท่านั้น และคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงตาและสมองเข้ากับสิ่งที่อยู่ภายนอก สมองจะต้องคิดและมองเห็นความหมายของสิ่งต่างๆและนำภาพที่ถ่ายมาสร้างเป็นเรื่องราวที่มีความหมายซึ่งสามารถสื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ เมื่อคนอื่นมองเห็นภาพที่เรานำมาผูกเป็นเรื่องขึ้นแล้วก็จะสามารถเข้าใจความหมายได้ตรงกันและสื่อสารได้ชัดเจน ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้สิ่งต่างๆในระดับลึกขึ้นเป็นลำดับ ผู้เข้าอบรมได้ลงมือศึกษาหรือสร้างเรื่องที่ตนเองสนใจขึ้นมาด้วยตัวเอง”
มูลนิธิไทยคม องค์กรการกุศลที่มุ่งพัฒนาด้านการศึกษาและเยาวชนไทยให้ “คิดเป็น ทำเป็น” สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันโลก มูลนิธิไทยคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการส่งต่อโอกาสแห่งการเรียนรู้นี้จะมีส่วนช่วยรักษาและต่อยอด
ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดเป็น “สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” สืบไป