นางทรงพร โกมลสุรเดช รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้เป็นยุคข้อมูลสารสนเทศและความรู้ (Information and Knowledge Society) ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถสร้างความแตกต่างในเรื่องของสถานภาพและคุณภาพของการศึกษา บทบาทในการเรียนการสอนในแต่ละวัน อีกทั้งเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาไทย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เด็กนักเรียนมีการใช้เทคโนโลยีไอซีทีได้ง่าย และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุนำไปสู่ความแตกต่างในด้านการศึกษา รวมทั้งสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต สิ่งเหล่านี้ คือปัญหาที่นักวิชาการเรียกว่า Digital Divine ซึ่งกระทรวงไอซีทีมองว่า ถ้าจะให้ระบบการศึกษาไทยลดการเผชิญกับปัญหานี้ ต้องให้ทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้และร่วมมือกัน ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวต้องมาจากจุดเริ่มต้นที่ว่าคุณภาพการศึกษาไทยคือตัวชี้วัดอนาคตชาติ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีที และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ซึ่งเป็นสององค์กรหลัก ในการพัฒนาและดูแลการมีการใช้ ICT ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาในระดับสูงต่อไป จึงได้จัดทำโครงการ “ Thailand ICT Youth Challenge 2014” ขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีในการส่งเสริมการเข้าถึงไอซีทีของเด็กไทย โดยเป็นการระดมสมอง ความคิด และสรรพกำลังจากหลายๆ ภาคส่วน มาร่วมแข่งขันกัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เรื่องของการส่งเสริมการศึกษาทุกระดับทุกประเภทให้นำไอซีทีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการศึกษาไทย และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (ICT for Competitiveness)
สำหรับการเปิดตัวโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2014” ในครั้งนี้ นับเป็นงานแรกที่ทาง กระทรวงไอซีที และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกันทางด้านการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นโครงการที่มีเป้าหมายกระตุ้น และ พัฒนาการใช้ไอซีทีในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงไอซีที ได้ส่งเสริมภาคการศึกษาให้มีความต้องการหรือดีมานต์เพิ่มมากขึ้น และมุ่งหวังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา นับได้ว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลดังที่กล่าวข้างต้น
ดร.พิธาน พื้นทอง ที่ที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2014” นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านกิจกรรมการแข่งขันแนวคิด และการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษาของเยาวชนไทย นับเป็นการริเริ่มในการจุดประกาย และส่งเสริมการใช้ไอซีทีในบริบทของเยาวชน และครูที่ปรึกษา ซึ่งถือเป็นกลุ่มรากฐานที่สำคัญต่อการศึกษาไทยและเชื่อว่าโครงการที่จัดขึ้นนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพ พร้อมให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนรวมและพัฒนาการใช้ไอซีที ของเยาวชน ครูที่ปรึกษา ตลอดทั้งผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป
“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาประยุกต์ใช้สนับสนุนการการบริหารการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนแต่ละรายวิชา และเป็นการลดช่องว่างทางสังคม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนที่อยู่ห่างไกล ให้ได้รับโอกาสทัดเทียมกับนักเรียนที่อยู่ในชุมชนเมือง โดยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับโรงเรียน ได้แก่ โครงการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนในลักษณะห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Tablet) ให้แก่นักเรียน และการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้โครงการโครงข่ายการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC-Net) ซึ่งทุกโครงการได้บูรณาการกัน เพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น เป็นเครื่องมือสำหรับครูและนักเรียนในการประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนในทุกรายวิชา รวมถึงสามารถเข้าถึงและใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากหลักการ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำร่องจัดทำห้องเรียนแบบ Smart Classroom หรือ ห้องเรียนที่ใช้อุปกรณ์ ICT เข้ามาช่วยจัดการเรียน การสอนในรายทุกรายวิชาได้อย่างเต็มรูปแบบ
ด้านนายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า โครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2014” คือ การแข่งขันแนวคิด และการใช้ไอซีที เพื่อการศึกษา ของเยาวชนไทย ระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการริเริ่มในการจุดประกายและสร้างความตระหนักรู้ ในการส่งเสริมการใช้ ICT ในบริบทของเยาวชน และครูที่ปรึกษา ซึ่งถือเป็นกลุ่มรากฐานที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตการศึกษาไทย โดยมีรายละเอียดของโครงการดังนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) ทั่วประเทศ เน้นการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน ครูที่ปรึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
“ ซึ่งนักเรียนระดับช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย สามารถส่งผลงานเป็นโปสเตอร์ ในหัวข้อ “ห้องเรียนอัจฉริยะ Smart Classroom” ความยาวจำนวน 1 หน้ากระดาษ A3 โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 2 หัวข้อ ให้เลือกตามถนัด คือ 1. วาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์ 2. วาดภาพด้วยมือ Hand Drawing โดยต้องมีคำบรรยายใต้ภาพ แรงจูงใจในการวาดภาพ ไม่เกิน 50 คำ ถ้าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สามารถส่งผลงานเป็นแผ่นพับ ในหัวข้อ “โรงเรียนอัจฉริยะ Smart School” ความยาวจำนวน 1 หน้ากระดาษ A3 โดยผลงานต้องทำจากคอมพิวเตอร์ โปรแกรมตามความถนัดของนักเรียนเท่านั้น” นายอดิเรก กล่าว
โดยจะคัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์ เพื่อมาร่วมกิจกรรมแคมป์เยาวชน และครู ใน 4 จังหวัดหลักทุกภูมิภาคของประเทศไทย และมีเงินรางวัลให้กว่า 120,000 บาท สำหรับกิจกรรมเด่นในแคมป์มุ่งเน้นในการลดปัญหา Digital Divine ส่งเสริมการเข้าถึงไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในแคมป์จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้ความรู้ ได้ทดลอง สัมผัสใช้ไอทีซี หรือ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการสร้างฝันของห้องเรียนอัจฉริยะ และโรงเรียนอัจฉริยะ สามารถเป็นจริงได้ในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละสถานการศึกษาแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้สนันสนุนหลักในการจัดแคมป์ครั้งนี้ก็คือ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ TK Park และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนคือ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ชาร์ปไทย จำกัด, บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.), การประปาส่วนภูมิภาค, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-661-7750 หรือ www.thictyouth.com