นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ความร่วมมือการค้าและการลงทุนด้านสินค้าเกษตรไทย-จีน” ในงานมหกรรมสินค้าจีนมาตรฐานส่งออก ครั้งที่ 4 (2014 ASEAN (Bangkok) China Import & Export commodities Fair) ซึ่งจัดโดยสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน-สากล ระหว่าง วันที่ 6 - 8 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องฮอลล์ 6 อิมแพค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจก้าวล้ำ วัฒนธรรมรวมใจ” พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภาพรวมของตลาดสินค้าเกษตรไทย” ว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้าและการลงทุน โดยเฉพาะด้านการค้า จีนถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าของไทย
สำหรับในปี 2556 ที่ผ่านมานั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าไปสาธารณรัฐประชาชนจีน 824,672 ล้านบาท (ร้อยละ 12) ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด 6,909,741 ล้านบาท โดยในส่วนของสินค้าเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 202,394 ล้านบาท (ร้อยละ 29) ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด 687,698 ล้านบาท
ในขณะที่ประเทศไทยได้นำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1,155,296 ล้านบาท (ร้อยละ 15) ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมด 7,657,346 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสัดส่วนสูงถึง 240,268 ล้านบาท (ร้อยละ 35) ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค 691,648 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผักและผลไม้ มีการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนคิดเป็น 21,111 ล้านบาท (ร้อยละ 50) ของมูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้ทั้งหมด 42,396 ล้านบาท ซึ่งในปี 2556 สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงทุนในประเทศไทย มูลค่าประมาณ 42,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการเปิดเสรีการค้ากับจีน ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการขยายการค้าเป็นอย่างดี โดยประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนมีความตกลงภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุน และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในอาเซียนเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้มีการอำนวยความสะดวก และช่วยในการขนถ่ายสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปีนี้ยังตรงกับปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-อาเซียนของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย จึงเป็นโอกาสอันดีที่การจัดงานมหกรรมสินค้า และการสัมมนาในครั้งนี้จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น ต่อไปในอนาคต รองเลขาธิการกล่าว.