ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าวว่า จากปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non communicable Chronic diseases (NCD) อาทิ โรคความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ ที่ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยทางรัฐบาลไทย พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างการจัดทำยุทธศาสตร์ในการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินยุทธศาสตร์ เรื่องการยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีการดึงประเทศที่กำลังพัฒนาได้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อทำงานด้านการวิจัย สนับสนุน และรับทุนวิจัย โดยมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการดูแล รักษา ป้องกัน รวมทั้งพัฒนาทางด้านการแพทย์ เพื่อลดความรุนแรงจากโรค NCD ในอนาคต” รองนายกฯ กล่าว
ดร.อแลงค์ โบเดท์ กล่าวว่า GACD ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่เป็นสถาบันวิจัยทางด้านสุขภาพจากประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อังกฤษ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา มีบทบาทและยุทธศาสตร์การทำงานป้องกันและแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังประเภทไม่ติดต่อ 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง ปอด เบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งโรคสมองและภาวะความผิดปกติทางจิต
“ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทางประเทศสมาชิก GACD ได้ร่วมกันพิจารณาว่ามีศักยภาพและมีความพร้อม โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ และมีการดำเนินงานวิจัยและมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข ที่พร้อมต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ประธานสถาบันวิจัยสาธารณสุขแคนาดา กล่าว
ทางด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สถานการณ์โรค NCD ในไทย จัดเป็นกลุ่มโรคที่เป็นภาระโรคและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาโรคเรื้อรังจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน อุบัติเหตุทางถนน และโรคมะเร็ง ปัจจุบันค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศ คิดเป็น 4.2% ของ GDP ประเทศ หากปล่อยไว้เช่นนี้คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า GDP อาจจะสูงถึง 6.6% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในกุล่มโรค NCD นั้น การดูแลรักษาต่อผู้ป่วย 1 คน จะมีมูลค่าสูงมาก
สวรส. ในฐานะสมาชิกเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) มองว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก GACD ในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยได้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ วิธีการใหม่ๆ การแบ่งบันข้อมูล ตลอดจนเกิดเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยในระดับสากลที่กว้างขวางและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพในการจัดการกับปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยการผลักดันเข้าสู่ระบบสุขภาพในเชิงการกำหนดเป็นมาตรการหรือนโยบายสุขภาพที่ส่งผลกับประชาชนโดยรวม