ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเป็นการชี้วัดจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจไทยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านความคาดหวังต่อรายรับ การส่งออก การจ้างงาน ความสามารถในการทำกำไร การลงทุนในอาคารใหม่ การลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรกล การค้นคว้าวิจัย (R&D) รวมถึงกิจกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจลดลง และจำนวนแรงงานมีทักษะที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจในไทยยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยทางด้านคำสั่งซื้อสินค้าและบริการที่ลดลง โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม การขยายตัวของธุรกิจ ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ลูกจ้างมีความคาดหวังต่อรายรับที่สูงขึ้น ตลอดจนสาธารณูปโภคทางด้านโทรคมนาคม
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รายงาน IBR พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียยังคงเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักธุรกิจอาจกำลังรอดูท่าที เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากที่ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ส่วนในประเทศสิงคโปร์ ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 59 ในไตรมาสที่ 2 เป็นร้อยละ 66 ในไตรมาสที่ 3 ทางด้านประเทศมาเลเซีย ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 50 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
นายแอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าการที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 นั้นไม่เป็นที่น่าแปลกใจ แต่การปรับตัวที่สูงขึ้นอย่างมากกลับเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด อย่างไรก็ตาม ควรรักษาระดับความเชื่อมั่นเช่นนี้ไว้ให้ได้ เพราะไม่ได้เห็นความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 จนถึง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 เป็นต้นมา”
“นี่อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติภายหลังช่วงฮันนีมูน ที่รัฐบาลใหม่ได้ประกาศนโยบายต่างๆ ที่เป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับสถาบันในเชิงลึกและอย่างจริงจังนั้น เป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทยในการพลิกฟื้นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการยกฐานะของประเทศท่ามกลางการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ฟื้นคืนกลับมาภายหลังหลายไตรมาสที่วุ่นวายนั้น นับเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดี”
อย่างไรก็ดี รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (IBR) ซึ่งจัดทำการสำรวจทั่วโลกรายไตรมาส ยังชี้ให้เห็นถึงการถ่ายเทความสมดุลย์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญต่อประเทศไทย โดยยูโรโซนกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือความเชื่อมั่นทางธุรกิจในประเทศเยอรมนีลดต่ำลงอย่างยิ่งในไตรมาสที่ผ่านมา และอาจเป็นสัญญาณร้ายว่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจของยูโรโซนซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ รายงาน IBR ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเผยให้เห็นถึง ‘ปรากฎการณ์ไม้กระดก‘ ที่เกิดในยูโรโซน โดยโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในสเปน ไอร์แลนด์ และกรีซ ในขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสกำลังซบเซาลง จึงเกิดการตั้งคำถามขั้นพื้นฐานว่า ยูโรโซนจะสามารถรองรับโชคชะตาและวิถีโคจรที่เปลี่ยนแปลงของประเทศสมาชิกได้หรือไม่
ทั้งนี้ รายงาน IBR เปิดเผยว่าในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมานั้น ทัศนคติด้านบวกในกลุ่มยูโรโซนปรับลดลงจากร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 5 ยิ่งไปกว่านั้น อัตราส่วนของธุรกิจที่ระบุว่าคำสั่งซื้อสินค้าและบริการที่ลดลงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางธุรกิจยังได้เพิ่มสูงขึ้น และความคาดหวังต่อการขยายการจ้างงานลดลงจากร้อยละ 17 เหลือเพียงร้อยละ 6
ในขณะเดียวกัน ทัศนคติด้านบวกของธุรกิจในเยอรมนีลดลงอย่างมากจากร้อยละ 79 เหลือเพียงร้อยละ 36 โดยเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในประเทศยูเครนที่มีต่อการค้าและอุปทานของพลังงาน โดยอัตราส่วนของบริษัทที่ระบุว่าอุปสงค์ที่ลดลงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของธุรกิจได้เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6 กลายเป็นจำนวนเกือบหนึ่งในสี่ของผู้ร่วมสำรวจ ส่วนความคาดหวังต่อการจ้างงานลดลงจนอยู่ในแดนลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553 และอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 34 กลุ่มเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการสำรวจ นอกจากนี้ การที่ทัศนคติด้านบวกที่ลดลงของธุรกิจในประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มยูโรโซนทำให้ปัญหาได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นายแอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราทราบกันดีว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศเยอรมนีนั้นแย่ลง แต่สิ่งที่ธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในประเทศไทย เป็นกังวลอย่างชัดเจนคือความรุนแรงของภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกำลังเผชิญกับปัญหาสามประการ ซึ่งได้แก่ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง ยอดสั่งซื้อสินค้าและบริการที่ลดลง ตลอดจนสภาวะการจ้างงานที่ซบเซา ซึ่งล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคพื้นยุโรปโดยทั่วกัน”
“ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ (Policymakers) จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วน ประเทศเยอรมนีมีฐานะทางการคลังเกินดุลอย่างมาก จึงยังมีช่องว่างสำหรับการดำเนินการ และสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ตามที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ข้อเสนอแนะเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังให้คำมั่นสัญญาต่อการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป ด้วยการริเริ่มการซื้อสินทรัพย์ในเดือนนี้ เพื่อรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ซบเซา ทว่าอาจเป็นการเริ่มต้นที่สายเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ภูมิภาคยุโรปหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในลักษณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาดำเนินการ แต่เวลาที่ยากลำบากอาจทำให้ต้องใช้มาตรการที่ท้าทายยิ่งขึ้น”
รายงาน IBR บ่งชี้ว่า ภาพรวมสำหรับบางประเทศในยุโรปที่เคยประสบกับสภาวะวิกฤตอย่างที่สุดนั้นกำลังปรับตัวดีขึ้นในปัจจุบัน โดยธุรกิจที่มีความคาดหวังต่อรายรับในระยะเวลา 12 เดือนภายหน้าปรับสูงขึ้นได้แก่ กรีซ จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 และไอร์แลนด์ จากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 70 ในขณะที่ธุรกิจที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนยังได้คาดหวังต่อผลกำไรที่มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจในกรีซและสเปนยังมีทัศนคติด้านบวกต่อการจ้างงานในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม