ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. อาปิโก ไฮเทค” ที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

พฤหัส ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๐๙:๔๖
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ในประเทศไทย รวมถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายราย อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ที่มีค่อนข้างสูง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศไทยซึ่งเอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะการผลิตของชิ้นส่วนรถยนต์ปั๊มขึ้นรูปที่มีอัตรากำไรอยู่ในระดับไม่สูงมาก ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มาก รวมถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทและการฟื้นฟูของอุตสาหกรรมรถยนต์จะเป็นตัวแปรหลักที่ช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า อีกทั้งแนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนมุมมองว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเข้มแข็งทางการเงินเอาไว้ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การมีอัตรากำไรค่อนข้างน้อยทำให้บริษัทถูกคาดหวังว่าจะรักษาโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่า 50% หรือรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไว้ไม่ให้เกิน 1 เท่า ทั้งนี้ อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับขึ้นหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องจากการขยายธุรกิจไปผลิตสินค้าที่มีกำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างเงินทุนลดลงอย่างชัดเจนจากระดับปัจจุบันเป็นเวลานาน โดยเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอาทิ เช่น การที่บริษัทสูญเสียหรือแพ้ประมูลคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ เช่น บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) หรือในกรณีที่บริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เงินกู้ยืมเป็นหลัก เป็นต้น

บริษัทอาปิโก ไฮเทค เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัทก่อตั้งในปี 2539 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2557 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท 2 ราย ได้แก่ ตระกูลเย็บ (Yeap family) และ โซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 39.8% และ 15.8% ตามลำดับ

สถานะทางธุรกิจของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Original Equipment Manufacturer: OEM) และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นั้นจำแนกเป็น 5 หมวด ได้แก่ โครงช่วงล่างรถกระบะ ชิ้นส่วนปั๊มขึ้นรูป ชิ้นส่วนตีอัดขึ้นรูป ชิ้นส่วนพลาสติก และอุปกรณ์จับยึดและแม่พิมพ์ ในปี 2556 ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สร้างรายได้ประมาณ 11,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 69% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สำหรับรถยนต์ฟอร์ดและมิตซูบิชิในประเทศไทย รวมถึงรถยนต์ฮอนด้าในประเทศมาเลเซียสร้างรายได้ประมาณ 4,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% ของรายได้ทั้งหมด บริษัทมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จีน และมาเลเซีย โดยรายได้จากประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยประเทศมาเลเซียประมาณ 15%-20% และประเทศจีนประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมด

ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้แก่ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตโครงช่วงล่างให้แก่รถกระบะอีซูซุมาตั้งแต่ปี 2546 โดยบริษัทมีรายได้จากบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ประมาณ 5,100 ล้านบาทในปี 2556 หรือคิดเป็นประมาณ 33% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนลูกค้าหลักรายอื่นๆ ได้แก่ บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด และ บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยรายได้จากบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) อยู่ในสัดส่วนประมาณ 10% และ 8% ของรายได้ทั้งหมด ตามลำดับ ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์ของ อีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า และนิสสัน รวมกันในปี 2556 มีจำนวนประมาณ 761,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 31% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ของลูกค้าเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างสอดคล้องกับอุปสงค์ของรถโดยสารและรถกระบะที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อยรายเหล่านี้สื่อให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า

บริษัทมีการเติบโตของรายได้อย่างมั่นคงและสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ในปี 2555 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากรัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก โดยเพิ่มขึ้น 55.8% และมีรายได้อยู่ที่ 16,811 ล้านบาทในปี 2555 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 16,096 ล้านบาทในปี 2556 หรือลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า สำหรับในครึ่งแรกของปี 2557 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 7,560 ล้านบาท ลดลง 13.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การลดลงของรายได้เป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดรถยนต์อันเนื่องมาจากการสิ้นสุดนโยบายรถยนต์คันแรกและ ปัญหาการเมืองภายในประเทศซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

อัตรากำไรของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำแต่มีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตรากำไร) ในระหว่างปี 2552 และ 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.5% และในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 บริษัทยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรได้ที่ระดับ 8.5% แม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะอยู่ในช่วงชะลอตัว

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 55.2% ในปี 2554 จากการขยายกำลังการผลิตและมีการเปลี่ยนและซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหายจากวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ 43.6% ณ เดือนมิถุนายน 2557 นอกจากนี้ ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 41.1% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 6.8 เท่า โดยอัตราส่วน 2 ประเภทหลังค่อนข้างดีกว่าปี 2555 เนื่องจากบริษัทได้รับเงินชดเชยจากประกันภัยมูลค่า 900 ล้านบาทในปี 2556

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ของรถยนต์จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่มีความมั่นคง สำหรับในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตประมาณ 5%-7% ต่อปี โดยจะอยู่ระหว่าง 18,000-19,000 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรนั้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 8%-11% ในขณะที่อัตราส่วนโครงสร้างเงินทุนจะลดลงที่ระดับต่ำกว่า 30% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมุติฐานที่บริษัทจะยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ สภาพคล่องของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนหนี้สินที่คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๘ สรุปผลสำรวจปี 2567 สถาบันวิจัยฮาคูโฮโดเผย THAIDOM EFFECT มาแรง ช่วยเสริมสร้างความสุข ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
๑๗:๑๔ รพ.กรุงเทพ ฉลองความสำเร็จกับรางวัล GREAT PLACE TO WORK พร้อมเปิดตัว DR.HEALTH AVATAR ตัวแทนความสุขยกระดับสุขภาพ
๑๗:๐๙ รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้วยส่วนลด 20% เมื่อจองตรงที่โรงแรม สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๑๗:๐๔ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566
๑๗:๓๘ ธนาคารไทยพาณิชย์ คว้า 5 รางวัลสำคัญด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในปี 2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำองค์กรยั่งยืน
๑๗:๐๓ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วยยากไร้
๑๗:๔๓ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภาคเหนือ - อีสาน อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง
๑๖:๕๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ Amazing Celebration 2025 A New Chapter of The Journey
๑๖:๑๓ ปักหมุด เตรียมเช็คอิน ร่วมส่งความสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกร ปี 2568 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
๑๖:๔๒ สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ย้ำ ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ลดอุบัติเหตุ ลดเจ็บ ลดตาย ช่วงเทศกาลปีใหม่