ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การจัดงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฐานทรัพยากรท้องถิ่น ตามโครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริฯ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 ที่จะถึงในปีหน้านี้ ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้รับพระราชทานพระราชาอนุญาตให้เข้าร่วมงานสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงสืบทอดการอนุรักษ์ทรัพยากรมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศที่อันนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีสวนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ตามกรอบแนวทางของ อพ.สธ. (โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เพื่อนำไปสู่การรักษาทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยกรมป่าได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายป่าไม้อย่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่เป็นองค์กรในการร่วมดำเนินการในงานด้านการสนับสนุนเรื่องป่าชุมชมมาโดยตลอด ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี ( พ.ศ. 2556 – 2558)
ดร.ธีรภัทร กล่าวต่อว่า โครงการนี้กรมป่าไม้ได้คัดเลือกป่าชุมชนจาก 9,000 แห่งทั่วประเทศที่ได้ ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมป่าไม้ เหลือเพียง 60 แห่ง ในการเข้าร่วมโครงการฯ โดยคัดเลือกจากป่าชุมชนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งพันธุกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของราษฎรในชนบทที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่าชุมชน ทั้งในด้านการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งพืชสมุนไพร และแหล่งไม้ใช้สอยอื่นๆ โดยได้กำหนดการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงาน 3 กรอบ 8 กิจกรรม ได้แก่
1. กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
2. กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
3. กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
4. กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
5. กิจกกรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
6. กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
7. กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
8. กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ดร.ธีรภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในชุมชนมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าต่อการศึกษา หากได้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าชุมชนโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งช่วยขับเคลื่อนจากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการเพื่อ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืชที่สำคัญ และที่สำคัญจะได้นำเอาองค์ความรู้จากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ไปขยายผลสู่การพัฒนาพันธุกรรมพืชจากป่าชุมชน ที่มีคุณค่าหายากที่สำคัญในระดับประเทศต่อไป