นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนตลอดทั้งปี 2557 ว่า บีโอไอมั่นใจว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท หลังจากที่ในช่วง 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2557) มีมูลค่า 645,300 ล้านบาท จากจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริม 1,206 โครงการ
นอกจากนี้ การยื่นขอรับส่งเสริมในเดือนตุลาคม 2557 ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั้งไทยและจากต่างประเทศสนใจลงทุนมากขึ้น โดยในเดือนตุลาคมเดือนเดียว มีผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 187 โครงการ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบรายเดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2557 ส่วนมูลค่าเงินลงทุนรวมในเดือนตุลาคม มีจำนวน 55,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก
สำหรับภาพรวมการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 10 เดือนนั้น แม้จะมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยจำนวนโครงการปรับลดลงร้อยละ 19 ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงร้อยละ 18.7 แต่ก็เป็นการลดในอัตราที่น้อยลง โดยในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่า จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมีสัดส่วนลดลงมากกว่า เช่น จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนในช่วง 8 เดือนลดลงร้อยละ 27.7 และ 38.2 ตามลำดับ ส่วนจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนในช่วง 9 เดือนลดลงร้อยละ 23 และ 27 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนในช่วง 10 เดือน กระจายอยู่ในกลุ่มกิจการที่มีขนาดเงินลงทุนต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของโครงการที่มีขนาดเงินลงทุนขนาดกลาง (เงินลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จำนวนถึง 1,057 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 102,400 ล้านบาท มีกิจการที่น่าสนใจ เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ กิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน กิจการเลี้ยงสัตว์ กิจการผลิตถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลและขยะ ขณะที่การลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งสิ้น 149 โครงการ เงินลงทุน 542,900 ล้านบาท มีกิจการที่น่าสนใจ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กิจการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ กิจการผลิตยางรถยนต์ กิจการผลิตยางสำหรับอากาศยาน กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตถุงมือทางการแพทย์
สำหรับกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด อยู่ในกลุ่ม บริการ และสาธารณูปโภค 355 โครงการ เงินลงทุน 264,600 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและยานยนต์ 237 โครงการ เงินลงทุน 207,100 ล้านบาท กิจการกลุ่มเคมี กระดาษ และพลาสติก 141 โครงการ เงินลงทุน 60,700 ล้านบาท กลุ่มกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 198 โครงการ เงินลงทุน 45,500 ล้านบาท กิจการเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 43 โครงการ เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท กิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า 192 โครงการ เงินลงทุน 20,200 ล้านบาท และกิจการในอุตสาหกรรมเบา 40 โครงการ เงินลงทุน 17,300 ล้านบาท