คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ก่อตั้งสถาบันสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีสถาบันฯ ต่อกันมาเป็นเวลานาน เพื่อเปิดวิทยาเขตในประเทศไทยในหลักสูตร “ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม” ดิฉันเห็นว่าโครงการนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งในด้านการสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรมจริยธรรม การส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมของอาเซียน (Educational Center) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยประสบการณ์การสอนผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรมของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ที่มาปรับใช้กับสังคมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก อันน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยหันมาใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาการศึกษาของชาติที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองขณะนี้ อีกทั้งจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอีกด้วย
โดยหลักสูตร “ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม” (Ethical Leadership) จะเป็นหลักสูตรสั้นสำหรับผู้บริหาร โดยจะเปิดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ให้กับนักศึกษากลุ่มภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ 2558 ระยะเวลา 4 สัปดาห์ในประเทศไทย รวมทั้งการไปดูงานที่บริษัทชั้นนำที่สหรัฐฯ และร่วมรับใบประกาศนียบัตรพร้อมกับนักศึกษาที่จบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มเป้าหมายแรกจะเป็นผู้บริหารจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทย
ดร. คริสโตเฟอร์ ฟอว์สัน รองอธิการดี ฝ่ายหลักสูตรทั่วไป มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ที่ให้ความสนใจกับเรื่องการศึกษาและคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจัง ถึงขั้นได้เข้าศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงมีความคิดที่จะเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรองรับการเกิดประชาคมอาเซียน โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางในอาเซียนหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในการจัดตั้งวิทยาลัยในประเทศจีนที่ผ่านมา รวมทั้งความสัมพันธ์ที่เคยมีมากว่า 70 ปี ระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมากที่เป็นสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์อีกด้วย” ดร. ฟอว์สัน กล่าว
“ผมมั่นใจว่าการจัดตั้งวิทยาเขตเพื่อหลักสูตร “ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม” ในประเทศไทยจะสามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำทั้งรัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาจากทั่วภูมิภาคที่จะได้รับการศึกษาธุรกิจและจริยธรรมควบคู่กันไป หลักสูตร “ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม” ของมหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีซึ่งเป็นหลักสูตรที่เริ่มจากปริญญาตรี ปริญญาโท และโปรแกรมสำหรับผู้บริหาร” ดร. ฟอว์สัน กล่าวเสริม
ดร. แอล ดไวท์ อิสระเอวเซ่น รองอธิการบดี ฝ่ายหลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ประเทศไทยนั้นจะเน้นมาตรฐานของคุณภาพการศึกษาในระดับเดียวกับ USU ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณาจารย์ที่สอนจะเป็นชุดเดียวกับที่สอนอยู่ที่ USU สหรัฐอเมริกาซึ่งจะบินมาสอนที่ประเทศไทย และนักศึกษาก็ต้องบินไปรับใบปริญญาบัตรของ USU ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกับนักศึกษา USU ที่นั่นด้วย เพียงแต่ในด้านการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาจะพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่พื้นฐานอยู่บนหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งจะอาศัยสถาบันสร้างอนาคตไทยและคุณหญิงสุดารัตน์ช่วยในเรื่องนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรที่ USU ภูมิใจจะนำมาจัดการเรียนการสอนที่ประเทศไทยก็คือ หลักสูตรด้าน Ethical MBA และ Ethical Leadership Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการสร้างนักบริหารจัดการที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นหลักประกันของความสำเร็จในการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนและลดความเสี่ยง ตลอดจนก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรของตัวเองและสังคมประเทศชาติโดยรวม ซึ่งทาง USU จะร่วมกับผู้รู้ในประเทศไทยพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของสังคมไทยอันมีรากฐานทางศาสนาที่แตกต่างจากสังคมตะวันตกเป็นการเฉพาะสำหรับประเทศไทย
โดยทั้งนี้ USU จะนำจุดแข็งของประเทศไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและเป็นแบบอย่างที่มีนัยสำคัญ (significant symbol) แห่งความเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นกรอบอ้างอิง อีกทั้งหลักจริยปรัชญา (Ethics) แห่งเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ก็เป็นหลักจริยธรรมสากลที่สามารถจะนำมาปรับใช้เป็นปรัชญาการศึกษาในด้านการสร้างนักบริหารที่มีคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักศึกษาในทุกศาสนาได้ ซึ่งจะทำให้หลักจริยปรัชญาแห่งเศรษฐกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาไทยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาจากประเทศอื่นๆซึ่งมาเรียนที่วิทยาเขตของ USU ที่ประเทศไทยแห่งนี้ด้วย”