กรมวิทย์ฯ จับมือภาคเอกชนเปิดตัว“ลาวาซีโอไลท์” นวัตกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลาย ฝีมือคนไทย

จันทร์ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๖:๑๘
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคเอกชนเปิดตัว“ลาวาซีโอไลท์” นวัตกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลาย ผลงานชิ้นแรกของโลกที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทย หวังให้ภาคเอกชนช่วยกระจาย“ลาวาซีโอไลท์”เข้าถึงประชาชนได้ทุกพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่าไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขสำหรับประเทศไทยมาโดยตลอด และยังเป็นปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านแถบภูมิภาคอาเซียนด้วย ในทุกๆปีแต่ละประเทศต้องมีการรณรงค์แก้ไขปัญหาไข้เลือดออกกัน ซึ่งวิธีหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนนำไปใช้ก็คือการใช้ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายที่นำไปใส่ในแหล่งน้ำบริเวณบ้านเรือน ที่ผ่านมาแม้ว่าทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายหรือทรายอะเบทจะสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ แต่ปัญหาคือมีกลิ่นเหม็นไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม นอกจากนี้เมื่อใส่ลงไปในน้ำยังทำให้น้ำขุ่นและไม่สามารถนำมาบริโภคได้ ประชาชนจึงไม่นิยมนำมาใช้ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหามาตลอด

เพื่อคิดค้นหาวัสดุชนิดอื่นมาใช้แทนทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายแบบเดิม ทีมวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย)จำกัด จึงได้ร่วมมือกันจนสามารถค้นพบ“ เกล็ดซีโอไลท์จากทรายภูเขาไฟ” ซึ่งมีประสิทธิผลดีเป็นอย่างยิ่งใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลายและเป็นผลงานชิ้นแรกของโลกที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทย เป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเม็ดเกล็ดสูตรซีโอไลท์เคลือบสารทีมีฟอส ผลิตด้วยสูตรผสมและเทคโนโลยีพิเศษที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วว่าใช้ในการป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสารออกฤทธิ์ชนิดเดียวกับทรายอะเบทที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งซีโอไลท์ที่นำมาใช้คือ Hydrous aluminium silicates ที่พบในหินภูเขาไฟ ปกติใช้บำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับถ่าน มีลักษณะเป็นรูพรุน เมื่อนำทีมีฟอสมาเคลือบแล้วจะไม่มีกลิ่นและทำให้น้ำใส เนื่องจากทีมีฟอสจะแทรกเข้าไปอยู่ตามรูพรุนของทรายภูเขาไฟ รูพรุนนี้จะช่วยชะลอการละลายตัวของทีมีฟอสจึงมีระยะเวลาในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้นาน 3-6 เดือนซึ่งนานกว่าผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำชนิดเดิมทำให้ไม่ต้องใช้บ่อยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือมีราคาถูก

นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อว่าที่ผ่านมาได้นำสารกำจัดลูกน้ำยุงลายซีโอไลท์ไปทดลองใช้ในหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านในประสิทธิภาพที่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็น น้ำยังคงใสเป็นปกติสามารถนำมาใช้ดื่มกินหรือแปรงฟันได้ ล่าสุดได้มีการนำผลิตภัณฑ์ซีไอไลท์ไปทดลองใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ อบต.หอมเกร็ด จ.นครปฐม พบว่าได้ผลตอบรับดีมาก ทางอบต.หอมเกร็ดมีความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซีโอไลท์ว่าสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างได้ผลและยืนยันว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของตำบลหอมเกร็ดต่อไป พร้อมทั้งได้แนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้ใช้ด้วยเช่น อบต.บ้านใหม่ ฯลฯ

“ซีโอไลท์”ถือเป็นนวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการยกย่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมไทย ซึ่งได้มีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันสามารถพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ซีโอไลท์สามารถกระจายถึงประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท 9801 กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัดในการนำนวัตกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลายกระจายสู่ตลาดค้าปลีกในชื่อของ “ลาวาซีโอไลท์” นับเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ลาวาซีโอไลท์” โดยบริษัท 9801 กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด จะเป็นผู้นำไปวางจำหน่ายในร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นให้ใส่ซีโอไลท์ในอัตราส่วน 20 กรัม ต่อน้ำ 1 โอ่งมังกรหรือประมาณ 200 ลิตร

ด้านนางสาวโชติมา ชุบชูวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท 9801 กรุ๊ป (ไทยแลนด์)จำกัดกล่าวว่า บริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ “ลาวาซีโอไลท์” เข้ามาทำตลาดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจในการใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำแบบเดิม โดยจะจัดแคมเปญ "ลาวา สกัดจุด หยุดยุงลาย" รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จัดโรดโชว์ไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก และจะมีการจัดนิทรรศการตามศูนย์การค้า ขณะที่การจัดจำหน่ายจะขายในช่องทางร้านขายยา ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์“ลาวาซีโอไลท์” ให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนได้มีทางเลือกในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ