สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM สะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% ของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องในอดีต (อาทิเช่น การให้ตราสารหนี้ของบริษัทสามารถนับเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้)
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบนั้นเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของแผนการเสนอขายหุ้นของบริษัทให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯใน BAM ลดลง ซึ่งฟิทช์มองว่าแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงของหน่วยงานภาครัฐอาจเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงการลดลงของโอกาสที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในการดำเนินงานปกติ (extraordinary support) แก่ BAM
ธุรกิจหลักของ BAM คือการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยบริษัทมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะของการประกอบธุรกิจของบริษัทส่งผลให้บริษัทต้องใช้ช่วงระยะเวลานานในการแก้ไขคุณภาพของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนระยะยาวที่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ BAM อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากหลักประกันและสินทรัพย์รอการขายของบริษัทส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐถึงความสำคัญของ BAM ที่มีต่อระบบสถาบันการเงินหรือความตั้งใจของภาครัฐที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ไว้ในระดับเดิมในระยะยาว อาจส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตปรับมาเป็น ‘มีเสถียรภาพ’ และอาจส่งผลให้ต้องมีการประเมินอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวใหม่ (re-assessment)
ในขณะเดียวกันการลดลงของความเต็มใจของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือแก่ BAM น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนได้จากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงอย่างมากหรือการที่ภาครัฐไม่ได้มีความตั้งใจที่จะรักษาสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BAM
เนื่องจากการปรับลดลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่บริษัท อาจส่งผลให้ผลประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยที่บริษัทได้รับอยู่ปรับตัวลดลง และมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น รวมทั้งบริษัทจะมีความจำเป็นมากขึ้นที่จะต้องรักษาสถานะทางการเงินของตัวบริษัทเองให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เช่นการมีระดับหนี้สิน (leverage) และสภาพคล่อง (liquidity) ที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้การลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงต่ำกว่า 50% อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM ถูกปรับลดลงหลายอันดับจนมาอยู่ในช่วงอันดับเครดิต (credit range) ที่ BBB(tha) ในขณะเดียวกันหากภาครัฐยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า BBB+(tha) ทั้งนี้จำนวนอันดับเครดิตที่จะปรับลดลงจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของฐานะทางการเงินของบริษัทในอนาคต และการที่บริษัทยังคงรักษาระดับความสัมพันธ์กับภาครัฐและยังคงได้รับประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อไป
อันดับเครดิตที่ประกาศมีดังนี้:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’