พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ได้สำรวจ “สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น” โดยสำรวจเยาวชนหญิงอายุระหว่าง ๑๗-๒๕ ปี จำนวน ๑,๒๐๔ ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงจากคู่รัก อาทิ ทำลายข้าวของ ร้อยละ ๗๕ ทำร้ายร่างกายร้อยละ ๗๔ กักขังหน่วงเหนี่ยว ร้อยละ ๗๑.๖ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร้อยละ ๖๘.๘ เป็นต้น และจากการสอบถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา พบว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงจากคู่รักต้องการขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ๑๓๐๐ ร้อยละ ๒๙.๑ อีกทั้งในส่วนของข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น เสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรมีช่องทางการให้คำปรึกษาหลากหลายช่องทาง ร้อยละ ๒๒.๖ สถานศึกษามีศูนย์ให้คำปรึกษาที่เข้าใจ/เข้าถึงได้ง่าย ร้อยละ ๒๒.๔ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตมีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ร้อยละ ๒๑.๙ หน่วยงานราชการควรสนับสนุนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น ร้อยละ ๑๗.๑ และจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา ร้อยละ ๑๖ ทั้งนี้ เนื่องในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เก็บข้อมูลรวบรวมสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอจากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มเยาวชน และได้นำข้อเสนอมายื่นให้ตนพิจารณาในวันนี้
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอที่ตัวแทนเครือข่ายฯ นำมายื่นให้ตน มีดังนี้
๑) สายด่วน ๑๓๐๐ ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ได้เป็นที่รู้จักของประชาชน ควรมีระบบรองรับในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว เร่งด่วน ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ รวมถึงควรมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำ โดยอยู่ในโครงสร้างของสำนักปลัดกระทรวงฯ ให้เป็นองค์กรหลักซึ่งสามารถบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประสบปัญหา อีกทั้งควรจัดระบบการให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
๒) สนับสนุนเครือข่ายเยาวชนให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกันเองในระดับเบื้องต้นในการเผชิญปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นการทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในสถานบันการศึกษาและนอกสถาบันการศึกษา
๓) ควรบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรทักษะชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นประเด็นการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมถึงการจัดระบบการแนะแนวในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อให้มีกลไกการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือกับนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่นอย่างเข้าใจและเป็นมิตร
“ทั้งนี้ ตนพร้อมรับข้อเสนอไปพิจารณา และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป”พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย