วาระผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ
ภายหลังจากที่วาระการขอหารือแนวทางในการแก้ไขมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ถูกถอดออกจากการประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2557 เมื่อพุธที่ 5 พฤศจิกายน โดยที่ประชุมไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าว ในการประชุม กทค. หนนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่น่าจับตาว่าจะดำเนินอย่างไรต่อไป นั่นคือเรื่องผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ ข้อ 7 ในประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ กำหนดว่า “ในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐโดยแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ แล้วรายงานจำนวนเงินรายได้และดอกผลที่เกิดขึ้น ซึ่งได้หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงานเพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป” ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ พบว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 11 เดือน 15 วัน บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด มีรายได้ที่จะนำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ประมาณ 2,300 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 1,666 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำนวน 634 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายดังกล่าว กลับไม่รวมถึงค่าใช้โครงข่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไว้ด้วย ซึ่งผู้ให้บริการทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่บริษัท กสท ในฐานะเจ้าของโครงข่าย แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 14,141 ล้านบาท และเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายมายังสำนักงาน กสทช. เรื่องนี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าที่ประชุม กทค. จะพิจารณาไปในทิศทางใด เนื่องจากจำนวนเงินที่บริษัท กสท เรียกเก็บสูงกว่าผลการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งสำนักงาน กสทช. หลายเท่า อีกทั้งมีความสับสนว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ใครกันแน่คือผู้ที่ต้องชำระให้กับบริษัท กสท หรือหากกรณีที่สำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายต้องควักกระเป๋าจ่าย คำถามคือว่า แล้วจะไปไล่เบี้ยเรียกเก็บเงินจากใคร
วาระเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมและการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก และ 4 หลัก
วาระนี้เป็นการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก และ 4 หลัก ของผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจำนวน 368 เลขหมาย ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเลขหมายแบบสั้น 3 หลัก ในอัตรา 100,000 บาท/เลขหมาย/เดือน และแบบสั้น 4 หลัก ในอัตรา 10,000 บาท/เลขหมาย/เดือน แต่ประกาศดังกล่าวก็ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมหากเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 77 ซึ่งในเรื่องนี้ความเห็นของสำนักงาน กสทช. สอดคล้องกับความเห็นของส่วนงาน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ชี้ว่าต้องพิจารณาทั้งสถานะของหน่วยงานผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายและวัตถุประสงค์การใช้งานให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ
กรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียม ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1) เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะตามที่กำหนด คือ หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหากำไร และ 2) ลักษณะการใช้งาน คือ จะต้องใช้ในภารกิจพิเศษ ใช้ในราชการ ความมั่นคงของรัฐ การทหาร และผู้นำประเทศ หรือใช้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
กรณีการลดหย่อนค่าธรรมเนียม ซึ่งสามารถลดหย่อนได้ร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียม ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1) เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะตามที่กำหนด คือ หน่วยงานราชการและองค์กรอื่นๆ ที่จัดทำประโยชน์สาธารณะ และ 2) ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้รับแจ้งเหตุ ช่วยเหลือทั่วไป บริการข่าวสาร และรับเรื่องร้องเรียน
ส่วนมติที่ประชุม กทค. ในวาระนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องจับตา เพราะนั่นหมายถึงบรรทัดฐานการพิจารณาเรื่องการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกต่อไปในอนาคตด้วย