เตือน ! อากาศหนาว..โรคทอร่าระบาดในกุ้งทะเล

พฤหัส ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๔:๐๖
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา จากสภาวะอากาศที่อุณหภูมิเย็นกว่าปกติเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ประกอบกับมีฝนตกกระจายทั่วประเทศ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน เป็นเหตุให้เริ่มพบกุ้งขาวที่เลี้ยงในความเค็มต่ำป่วยตาย เนื่องจากสภาวะดังกล่าวเอื้ออำนวยต่อการเกิด “โรคทอร่า” ในกุ้งขาวที่เลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าตลอดในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคมจะพบโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงขอฝากเตือนให้เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งทะเลโปรดระมัดระวังและเฝ้าสังเกตอาการกุ้งในบ่อ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เพิ่งลงลูกกุ้งจนถึงระยะ 45 วัน และน้ำมีค่าความเค็มต่ำ

ดร.จิราพร เกษรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของกุ้งที่ป่วยเป็นโรคทอร่า ตามลำตัว แพนหาง และระยางค์ขาทั้งหมดมีสีชมพูแดงชัดเจน ปลายระยางค์เริ่มกร่อน เปลือกนิ่ม ลำไส้ไม่มีอาหาร มักจะตายระหว่างลอกคราบ และจะทยอยตายไปเรื่อยๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบการตายประมาณ 40-90 % หรือหากไม่ตายแต่ปรากฏแผลจุดดำตามเปลือกทั่วตัว แสดงว่ากุ้งยังคงมีเชื้อไวรัสสะสมอยู่และจะกลายเป็นตัวพาหะนำโรคได้

สำหรับการป้องกันโรคทอร่า ทำได้ ดังนี้

1. ใช้ลูกพันธุ์กุ้งที่เป็นสายพันธุ์ต้านทานเชื้อทอร่า (specific pathogen resistance, SPR) หรือ สายพันธุ์ปลอดเชื้อ (specific pathogen resistance, SPR) และควรคัดกรองลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อไวรัสก่อโรคและมีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการตรวจรับรองจากห้องปฏิบัตการที่เชื่อถือได้ อีกทั้งเกษตรกรควรสุ่มตัวอย่างกุ้งในบ่อเลี้ยงมาตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

2. ควรเลี้ยงกุ้งในระบบปิดหรือระบบที่มีการถ่ายน้ำน้อย และมีบ่อพักน้ำ จะทำให้สามารถเตรียมน้ำที่มีคุณภาพดีช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้มาก

3. มีการเตรียมบ่อและการจัดการพื้นก้นบ่อที่ดี ฆ่าเชื้อภายในบ่อหลังการเลี้ยงแต่ละรอบเพื่อกำจัดเชื้อโรคและพาหะนำโรค ด้วยคลอรีนเข้มข้น 60-65 % อัตราส่วน 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้คลอรีนผง 25 % อัตราส่วน 120 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ค่า pH น้ำในบ่อจะต้องไม่เกิน 8.0 แต่ถ้าค่า pH น้ำในบ่อสูงกว่า 8.0 ให้เลือกใช้สารกลุ่มไตรคลอฟอน อัตราส่วน 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือไดคลอวอส อัตราส่วน 0.5 กิโลกรัมต่อไร่ โดยทิ้งไว้อย่างน้อย 7 – 10 วัน เพื่อให้สารเคมีดังกล่าวสลายตัวได้หมดก่อนปล่อยลูกกุ้ง

4. หลีกเลี่ยงการใช้อาหารสดในการเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากอาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัส

5. ลดปัจจัยที่ทำให้กุ้งเกิดความเครียด เช่น การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำอย่างฉับพลัน ลดความหนาแน่นของกุ้งที่ปล่อยเลี้ยง

6. ควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยง โดยตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งเช้าและบ่าย โดยเฉพาะหลังฝนตกซึ่งคุณภาพน้ำจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

7. เติมจุลินทรีย์ ปม.1 ในน้ำที่ใช้เลี้ยงเป็นระยะๆ เพื่อช่วยควบคุมปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อ

8. ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคทอร่า เพราะสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไม่ใช่แบคทีเรีย และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดรักษาและฆ่าเชื้อไวรัสในตัวกุ้งได้โดยไม่เป็นอันตายต่อกุ้ง

ทั้งนี้ เมื่อเกิดโรคในฟาร์ม เกษตรกรควรใช้ตาข่ายพลางแสง หรือแผ่นพลาสติกปิดกันที่เกิดโรคจากพื้นที่อื่นๆและห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่เกิดโรค และใช้คลอรีนเติมลงในบ่อกุ้งที่เป็นโรค ให้มีความเข้มข้นสุดท้ายเป็น 30 พีพีเอ็ม ทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน โดยห้ามปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำภายนอก และทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงทั้งหมดจนแน่ใจว่าปลอดเชื้อ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา โทร.0 74 335 244-8 และสถาบันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 0 2561 0786 ในวันเวลาราชการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ