9 แชมป์โรคสมอง... อย่ามองข้าม

ศุกร์ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๔:๓๔
บทความสาระการแพทย์

9 แชมป์โรคสมอง... อย่ามองข้าม

โดย นพ. ชาญพงค์ ตังคณะกุล

ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สมอง เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ลดความเครียด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดูแลสมองให้ทำงานได้ดี ซึ่ง นพ. ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันโรคด้านสมองและระบบประสาท เป็นโรคที่คนไทยเป็นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยวันนี้คุณหมอจะพาไปรู้จักกับ 9 แชมป์โรคทางสมองและระบบประสาท พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคมาฝากกัน

โดยแชมป์อันดับที่ 1 มักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, หัวใจ, ความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่จัด ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็น Stroke มาก่อน การป้องกันโรคอย่างทันท่วงที ควรสังเกตอาการน่าสงสัย มักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หน้าหรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการเวียนหัว หรือวูบแบบเฉียบพลัน สัญญาณเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจหากเกิดอาการขึ้น ควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชม.เพื่อรับการรักษาทันที หากมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง ด้วย Carotid Duplex เป็นประจำทุกปี

2. โรคหลอดเลือดสมองโป่ง

เกิดได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในคนอายุ 40-60 ปี โดยเฉพาะเพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย คิดเป็น 1.6 : 1 คน ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ป่วยโรคความดันสูง สูบบุหรี่จัด ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน ภาวะตาตกตาเหล่ มีญาติที่เป็นเส้นเลือดโป่ง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองโป่งมักจะตรวจพบเมื่อมีเส้นเลือดแตกแล้ว (Rupture Aneurysm) ผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึง 50% อีก 25% อาจพิการ และ 25% สามารถหายเป็นปกติ แต่หากตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งก่อนที่จะแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 2-3%, เกิดความพิการ 7% และกว่า 90% สามารถเป็นปกติได้... รู้เร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการด้วยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) หรือบางกรณีที่จำเป็นจะใช้การฉีดสีทึบแสงตรวจเส้นเลือด (Angiography) ร่วมด้วย หรือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA) ช่วยในการดูหลอดเลือดในสมองแล้วแต่กรณี

3. ความจำถดถอย...จุดเริ่มอัลไซเมอร์

อาการหลงๆลืมๆ เพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ และกลายเป็นโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงได้ จุดสังเกตว่าสมองเริ่มถดถอยลง คือ หลงลืมบ่อย จำเรื่องแต่ละวันไม่ค่อยได้ นึกชื่อไม่ออก พฤติกรรมหรืออารมณ์เปลี่ยนไป เก็บตัว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่หากรู้แต่เนิ่นๆ สามารถชะลออาการของโรคให้เกิดช้าลงได้ โดยตรวจสมรรถภาพความจำถดถอย กับเทคโนโลยีการตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์โดยการใช้ PET Scan วินิจฉัยเพื่อแยกชนิดของโรคความจำถดถอยก่อนนำไปสู่แผนการรักษา

4. โรคพาร์กินสัน กระตุ้นสมอง หยุดสั่น ป้องกันล้ม รู้ทันพาร์กินสัน

โรคความเสื่อมของสมองที่เกิดจากการขาดสารโดพามีน พบมากในอายุ 60 ปีขึ้นไป และอาจพบในวัยกลางคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน มักเริ่มต้นด้วยอาการสั่นที่แขนขา กราม หรือใบหน้า กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวช้า พูดหรือกลืนลำบาก ซึมเศร้าหดหู่ หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุแต่หากปล่อยไว้จนอาการทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวยาก... ถึงแม้พาร์กินสันจะเป็นโรคเรื้อรังแต่สามารถควบคุมอาการได้ ด้วยการตรวจหาความผิดปกติของสมองส่วนที่สร้างสารโดพามีนกับเทคโนโลยี PET Brain F-DOPA วินิจฉัยระยะความรุนแรงของโรค หรือรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการผ่าตัดฝังไมโครชิปกระตุ้นสมองส่วนลึก DBS Therapy เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ลดการใช้ยา ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

5. เมื่อร่างกายมีอาการ “สั่น” หรือ “ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป”

เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น อาการสั่น หน้ากระตุก ตากระพริบหรือกระตุก ปากบิดเบี้ยว คอหรือลำตัวบิดเกร็ง เดินเซ เคลื่อนไหวซ้ำๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยา อาการเคี้ยวปากหรือคล้ายรำละคร... ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่สามารถลดอาการปวดจากกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้ด้วย การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซินที่ปลายประสาท รักษาโรคหน้ากระตุก โรคคอบิดเกร็ง กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อชั่วคราว ลดการกระตุกและปวดเกร็งลงได้ หลังจากฉีดไปแล้ว 3-4 วัน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ฝึกการเดินและการเคลื่อนไหวแก่ผู้ป่วย

6. โรคลมชัก

ถือเป็นวายร้ายทำลายสมองที่สามารถเกิดได้ตลอดชีวิตทุกเพศทุกวัย กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาการชักที่แสดงไม่จำเป็นต้องชักเกร็งกระตุกเสมอไป บางรายเหม่อลอย นิ่ง ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก จนสมองถูกทำลาย สูญเสียความจำ ที่สำคัญมีผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ช้าลงในเด็กเล็ก... ขณะนี้มีเทคโนโลยี EEG simultaneous fMRI brain สามารถตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนที่ผิดปกติได้แม่นยำ

7. วูบ เบลอ...อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคลมชักแฝง

อาการวูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ในผู้สูงอายุ อาจไม่ใช่ความเสื่อมตามอายุ แท้จริงแล้วมีผลมาจากโรคลมชักแฝงที่เชื่อมโยงมาจากโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองฝ่อลง และโรคทางกายอย่าง ตับไตเสื่อม รวมทั้งโรคติดเชื้อ กรรมพันธุ์ และปัจจัยภายนอกจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรของเซลล์สมองผิดปกติจนเกิดโรคลมชักแฝงที่ไม่แสดงอาการชักกระตุก หากชักครั้งแรกแล้ว ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือรักษาทันที อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์สมองได้ ดังนั้น การเฝ้าดูพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็น และหาสาเหตุได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EGG เพื่อให้การรักษาได้ทันที อย่ารีรอจนสมองถูกทำลายจนอาจรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

8. ปวดไมเกรนเรื้อรัง

อาการปวดหัวตุ้บๆ ตื้อๆ เป็นๆ หายๆ ปวดข้างเดียวที่หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย หรือกระบอกตา พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (บางรายปวดหัวขณะมีประจำเดือน) แพทย์ได้ค้นพบเทคนิคการรักษาอาการปวดศีรษะเฉียบพลันได้แล้ว ด้วยการฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน ลดความถี่ของอาการปวดไมเกรนเรื้อรังได้, การฉีดยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาทหลังศีรษะ Occipital Nerve Block เพื่อระงับอาการปวดศีรษะขั้นรุนแรง, การใช้ค็อกเทลยารักษาโรคไมเกรน Migraine Cocktail ช่วยลดการกลับมาปวดศีรษะซ้ำอีกภายใน 24ชม.ได้, การกระตุ้นกระแสไฟฟ้าลดปวดด้วยเครื่อง TMS, การฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปรานลดอาการปวดลงได้

9. เครียด...ปวดคอร้าวขึ้นศีรษะ

เป็นอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว เพราะความเครียด การนั่ง (ทำงานหรือขับรถ) ท่าเดียวนานๆ การใช้สายตานานๆ (จ้องหน้าคอมหรืออ่านหนังสือนานๆ) ทานอาหารผิดเวลา นอนน้อยหรือมากไป ขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปวดตื้อๆ หนักๆ เหมือนถูกรัดบีบหัว มักไวต่อแสงหรือเสียงที่ดัง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และปวดมากตอนบ่ายๆ เย็นๆ การทานยาแก้ปวดอาจช่วยได้ในรายที่ไม่รุนแรง หากปวดมากเรามีตัวช่วย ด้วย 1. Posture Analysis โปรแกรมปรับสมดุลของกล้ามเนื้อคอบ่าหลังให้ถูกวิธี สาเหตุของอาการปวดศีรษะ,2. การบำบัดขจัดอาการปวดศีรษะด้วย LASER Therapy และ 3. ลดเครียดด้วยการฝึกผ่อนคลายกับเครื่อง Biofeedback

อย่างไรก็ตามการดูแลตนเองของคนทั่วไปสามารถทำได้ โดยอย่างแรกควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้ก่อนที่จะสายเกินไป การตรวจสุขภาพประจำปี คืออีกวิธีหนึ่งในการป้องกันตัวเองจากโรคทางสมอง เพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคสมอง เพราะโรคบางอย่างไม่มีอาการอะไรบอกล่วงหน้าเลย ฉะนั้นอย่ารอจนตัวเองปวดหัวหรือมีอาการมากๆ แล้วค่อยไปพบแพทย์ หากรู้ก่อน พบอาการได้เร็ว ก็อาจเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น คุณหมอชาญพงค์ฝากทิ้งท้าย

ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) 088-654-5099 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลกรุงเทพ

โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๕ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ เปิดพื้นที่ต้อนรับพ่อค้า แม่ขายรุ่นเยาว์ ร่วมฝึกหารายได้เสริม ในงาน ตลาดนัดวัยเรียนปี 3
๑๑:๑๖ ทีมคิง เพาเวอร์ คว้าแชมป์การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโล รายการ KING POWER CUP 2025
๑๑:๐๗ นภินทร รมช.พาณิชย์ เดินหน้าขึ้นทะเบียน GI ใหม่ มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้วของดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ดีกรีแชมป์รางวัลพระราชทาน สร้างรายได้กว่า 61
๑๑:๐๖ เพาเวอร์บาย ผนึก กฟผ. จัดแคมเปญ ส่งความสุขปีใหม่ คนไทยใส่ใจรักษ์โลก ชวนเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมมอบส่วนลด
๑๐:๐๕ บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี ผนึกกำลัง HealthTAG ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านข้อมูลทางการแพทย์
๑๐:๒๑ EGCO Group ผนึกกำลังมูลนิธิกาญจนบารมี จัดหน่วยบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้นทาง แก่ชุมชนรอบสำนักงานใหญ่
๐๙:๐๘ IUX ผนึกกำลัง Fulham FC: สู่ความก้าวหน้าในพรีเมียร์ลีก
๐๙:๕๖ NT เผยแนวทางสำคัญในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย
๐๙:๓๖ ครั้งแรกในประเทศไทย!! KANEBO PAINT HOPE ON SPACE 2025 เวิร์คช้อปสร้างสีสันบนพื้นที่ว่างเปล่าอย่างอิสระ
๐๙:๒๔ ปตท. คว้าอันดับ 1 ของโลก ด้านการประเมินด้านความยั่งยืนจาก SP Global พร้อมมุ่งมั่น แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน