สถาบันอาหาร เผยผลสำรวจคนสวีเดนนิยมอาหารรสเผ็ด แนะพัฒนาเมนูอาหารไทยแปรรูปพร้อมทานเสริมทัพ

อังคาร ๒๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๐:๑๐
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำรวจชาวสวีเดนชื่นชอบอาหารไทยรสเผ็ด ต้มยำกุ้ง – โป๊ะแตก ยังเป็นเมนูสุดฮิต แนะร้านอาหารไทยต้องสร้างความแตกต่างจากอาหารเอเชียชาติอื่น เน้นสร้างคุณค่าจากวัตถุดิบ และสมุนไพรของไทย ชี้ตลาดยังมีช่องว่างอีกมากหากหนุนผู้ประกอบการพัฒนาเมนูอาหารไทยแปรรูปพร้อมรับประทานเพิ่มแนวรบอีกด้าน

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันอาหาร ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยการเลือกรับประทานอาหารในร้านอาหารไทยของชาวสวีเดน ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คุณค่าอาหารของไทย (Thailand Food Forward) เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารของไทย และผู้ที่สนใจทั่วไปในการนำข้อมูลไปประกอบการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทย และธุรกิจส่งออกวัตถุดิบและอาหารไทยไปยังประเทศสวีเดน ทั้งนี้การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารไทยในสวีเดน ได้เก็บกลุ่มตัวอย่างประชากรในประเทศเป้าหมายจำนวนทั้งหมด 416 ชุด ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยประชากรที่ตอบแบบสอบถามเป็นคนสัญชาติสวีเดนที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน(ไม่จำกัดคุณวุฒิ) และกลุ่มนักศึกษาวุฒิปริญญาโทขึ้นไป เป็นเพศชายร้อยละ 55.3 และเพศหญิงร้อยละ 44.7 อยู่ในช่วงอายุ 15 – 34 ปี ร้อยละ 61 ระดับการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 54.5 และ มีสถานภาพโสด ร้อยละ 49.8 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเอกชน คือ ร้อยละ 32.6 รองลงมา คือนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 30.4

นายเพ็ชร กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารไทย พบว่า ชาวสวีเดนที่มีรายได้ต่อครอบครัวน้อยกว่า 150,000 โครนสวีเดนต่อปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.9 ไม่เคยรับประทานอาหารไทย สำหรับชาวสวีเดนที่มีรายได้ต่อครอบครัว 150,001 – 250,000 โครนสวีเดนต่อปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.2 เป็นผู้ที่เคยรับประทานอาหารไทย ส่วนชาวสวีเดนที่มีรายได้ต่อครอบครัวมากกว่า 250,000 โครนสวีเดนต่อปี ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 เป็นผู้ที่เคยรับประทานอาหารไทย และส่วนใหญ่จะไปรับประทานที่ร้านอาหารไทย อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาชาวสวีเดนที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 250,000 โครนสวีเดนต่อปี โดยส่วนใหญ่ไปรับประทานอาหารไทยเพียง 1 - 2 ครั้ง ในขณะที่ชาวสวีเดนที่มีรายได้ต่อครอบครัวมากกว่า 250,000 โครนเดนสวีเดนต่อปี โดยส่วนใหญ่รับประทานอาหารไทย มากกว่า 12 ครั้ง ในช่วงปีที่ผ่านมา ชาวสวีเดนที่เคยรับประทานอาหารไทยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอาหารไทยมีราคาที่เหมาะสม มีรสชาติดี และอร่อย ในส่วนของเมนูอาหารไทยที่ชาวสวีเดนชื่นชอบมากที่สุด พบว่า เมนูต้มยำกุ้ง เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาคือ ผัดไทย ส้มตำ ไก่ผัดเม็ดมะม่วง

นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ในการสำรวจครั้งนี้ยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสวีเดน พบประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความสามารถของชาวสวีเดนในการรับประทานอาหารไทยที่มีรสเผ็ดได้อย่างดี โดยมักรับประทานอาหารในลักษณะเป็นกับข้าว รายการอาหารที่ได้รับความนิยม คือ โป๊ะแตก ไก่ผัดเม็ดมะม่วง ไก่แกงแดง พะแนง แกงเขียวหวาน และผัดไทย ส่วนของหวานที่เป็นที่นิยม คือ ไอศกรีมใส่กล้วย และมักดื่มเบียร์ไทยควบคู่กับการรับประทานอาหาร

โดยร้านอาหารไทยฺ Blue Chilli จะซื้อวัตถุดิบจากตัวแทนขายหลายบริษัท ได้แก่ ตัวแทนขายชาวฮ่องกง จีนและเวียดนาม ขณะที่ร้านอาหารไทยอีก 2 ร้าน กล่าวว่า ทางร้านพยายามใช้วัตถุดิบที่มาจากประเทศไทยให้มากที่สุด เช่น ข้าวหอมมะลิ เครื่องแกง กะทิ และผักต่างๆ แต่วัตถุดิบบางอย่างก็สามารถใช้ของเวียดนาม และของแอฟริกาใต้แทนได้ เช่น ถั่ว มะนาว มะกรูด เป็นต้น เนื่องจากมีรสชาติที่ใกล้เคียงและมีราคาที่ถูกกว่า สำหรับวัตถุดิบที่มาจากประเทศไทยและถูกห้ามนำเข้าเป็นระยะ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสารเคมีตกค้าง ได้แก่ ใบมะกรูด ใบโหระพา และใบกะเพรา

อาหารไทยเป็นอาหารที่ชาวสวีเดนนิยมรับประทานตลอดทั้งปี แต่จะได้ขายดีในช่วงฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน เนื่องจากช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ชาวสวีเดนจะหยุดพักผ่อนประจำปี โดยลูกค้าจะนิยมใช้บริการแบบสั่งกลับบ้าน (Take Away) และนิยมรับประทานอาหารที่ร้านในส่วนที่นั่งแบบ Out door ในช่วงมื้อเย็น โดยมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารไทยที่ร้านประมาณ 220 - 250 โครนสวีเดนต่อหัว แต่หากสั่งอาหารกลับบ้านจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เนื่องจากลูกค้าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเพียงร้อยละ 12 ในขณะที่การรับประทานอาหารที่ร้านลูกค้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 25

นายเพ็ชร กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเสนอแนะในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในสวีเดนว่า ควรเป็นร้านที่ให้บริการเต็มรูปแบบในระดับกลาง กล่าวคือ ไม่ควรมีความหรูหราจนเกินไป และมีการให้บริการอาหารจานเดียว รวมถึงการให้บริการแบบสั่งกลับบ้านเนื่องจากชาวสวีเดนยังคงนิยมรับประทานอาหารที่บ้าน และเนื่องจากชาวสวีเดนนิยมและชื่นชอบอาหารไทยเป็นพื้นฐาน ดังนั้นผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ด้านความแตกต่าง(Differentiation) ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างอาหารไทยกับอาหารเอเชียของประเทศคู่แข่ง โดยเน้นในเรื่องของอาหารที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปจนถึงการบริการที่ดี ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ และสมุนไพรของไทยที่ใส่ในอาหาร เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ในคุณค่าของอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรมีการวิจัย และพัฒนาอาหารพร้อมรับประทานในเมนูที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศเป้าหมายให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบอาหารแปรรูปพร้อมรับประทานแช่เย็น และ แช่แข็ง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารที่บ้าน และใช้เวลาในการรับประทานอาหารไม่นาน ประกอบกับความนิยมในอาหารไทยที่มีอย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาดอาหารแปรรูปพร้อมรับประทานเป็นตลาดที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมาก โดยภาครัฐอาจส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำอาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน เป็นผู้เริ่มในการวิจัยพัฒนาและผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย และภาครัฐควรมีมาตรการในการส่งเสริมเพื่อจูงใจ เช่น การสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา การส่งนักวิจัยของรัฐเข้าไปร่วมวิจัยและพัฒนา ร่วมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ