นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง นโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ว่ากรมควบคุมโรคได้ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะในการปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสรุปได้ 4 ประเด็นดังนี้ 1. การผลักดันนโยบายกฎหมายที่มีผลสำเร็จแล้ว
โดยกำหนดให้เพิ่มขนาดพื้นที่ของข้อความคำเตือนในสื่อโฆษณาจากเดิม 1/4 เพิ่มขึ้นเป็น 1/3 ของพื้นที่ทั้งหมด และปรับรูปแบบของข้อความคำเตือนให้สั้น กระชับ และเห็นโทษภัยชัดเจนขึ้น 2. การผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายเพิ่มเติม กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การควบคุมฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิให้มีการใช้ภาพดารา นักร้อง นักแสดง เพราะจะกระตุ้นการเลือกซื้อสินค้าในเด็กและเยาวชน การปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดวันห้ามขายในช่วงวันสำคัญทางเทศกาลที่มีการบาดเจ็บล้มตาย เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ การกำหนดสถานที่ห้ามขายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและในสถานีรถไฟ การห้ามขายบริเวณรอบสถานศึกษา รวมถึงการควบคุมกรณี เหล้าปั่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมผลักดันเป็นกฎหมาย 3. การบังคับใช้กฎหมาย โดยมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม รวมถึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคดำเนินการประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมกันบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่อย่างจริงจังและทั่วถึง ตลอดจนการสร้างและร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 4. การให้เงินสินบนและเงินรางวัล โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินสินบนนำจับ ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็มีสิทธิได้รับเงินรางวัล เป็นการให้รางวัลแก่ผู้ทำความดีและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายณัฐพล แย้มฉิม ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ได้เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง11 – 60 ปี ทั่วประเทศ รวม 14 จังหวัด จำนวน 3,163 คน พบว่า สถานที่ที่เป็นที่นิยมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง และร้านอาหาร ทั้งนี้เพราะหาซื้อได้สะดวก ดื่มง่าย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่ห้ามขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟและในขบวนรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ สนามกีฬา และท่าเรือสาธารณะ
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76 เห็นว่ารูปแบบข้อความคำเตือน ประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์มีขนาดเล็กเกินไปและอ่านคำเตือนเร็วเกินไป และร้อยละ 80 เห็นว่าควรเพิ่มขนาดของข้อความคำเตือนในป้ายโฆษณาจาก 1/4เป็น 1/3 ของพื้นที่ และควรเพิ่มลักษณะของข้อความที่สั้น กระชับ และทำให้เห็นโทษหรือผลกระทบที่รุนแรง ในส่วนของการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากวันสำคัญทางศาสนาเดิมที่มีการห้ามอยู่แล้ว ร้อยละ 87 เห็นว่าควรห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกวันพระมากที่สุด รองลงมาคือ วันสำคัญของศาสนาอื่น วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันสำคัญตามประเพณี และเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ มากกว่าร้อยละ 81 เพราะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท ช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้กว่าร้อยละ 88 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บน “ทาง” เพราะเป็นสถานที่สาธารณะ สามารถช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้
ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นมาตรการสำคัญในการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งในส่วนของการเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์กฎหมาย และการกล่าวโทษดำเนินคดี ซึ่งมีผลการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2556 – 30 ก.ย. 2557 ดังนี้ เฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์กฎหมาย 2,762 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี849 รายรวม 3,611 ราย โดยเป็นการกระทำความผิดมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กว่าร้อยละ50 รองลงมา เป็นการกระทำความผิดมาตรา 30 เรื่องขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น การส่งเสริมการขาย ร้อยละ 12 นอกเหนือจากนี้พบการกระทำผิดมาตรา 27 การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม มาตรา 28 การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาต้องห้ามตามกฎหมาย มาตรา 29 ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้
และมาตรา 31 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม ซึ่งสถานะคดีข้างต้น มีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการกล่าวโทษดำเนินคดี 581 คดี คดีที่กล่าวโทษออกไปแล้วทั้งสิ้น 262 คดี และคดีสิ้นสุดแล้ว 6 คดี
อนึ่งต้นเดือนธันวาคมนี้ ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง รูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 จะมีผลใช้บังคับ โดย มีความแตกต่างจากฉบับที่ 1 คือ 1.จะมีการขยายขนาดพื้นที่คำเตือนจากเดิม 25 % เป็น 33.33% ของพื้นที่ทั้งหมด 2.ปรับข้อความคำเตือนให้สั้น กระชับ และเห็นโทษพิษภัยชัดเจนขึ้น คือ “เป็นเหตุก่อมะเร็งได้” “เป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้” และ “เป็นเหตุให้พิการได้”3.เพิ่มรูปแบบคำเตือนแนวตั้ง จากเดิมที่มีแต่แนวนอน ซึ่งการโฆษณาที่จัดทำขึ้นใหม่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทันทีในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป แต่โฆษณาที่ทำไว้ก่อนหน้าจะยังสามารถโฆษณาต่อได้อีกไม่เกิน 180 วัน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3392 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422