โดยจัดกิจกรรมและจัดแสดง ได้แก่จัดนิทรรศการ “อัครศิลปิน” ประกอบด้วยพระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม โดยนำพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง 9 ด้าน ได้แก่ ด้านจิตกรรม ประติมากรรม หัตถศิลป์ ถ่ายภาพ ดุริยางคศิลป์ วรรณกรรม และวาทศิลป์ ภูมิสถาปัตย์ มาจัดแสดง รวมถึงการจัดทำบทเพลงรักชาติร่วมสมัย ชุด “รักพ่อ” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้พสกนิกรชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีผ่านบทเพลงเทิดพระเกียรติ ซึ่งในวันงานจะมีการนำซีดีไปแจกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนวันละ 2,000 ชุด
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม “9 เสน่ห์มรดกวัฒนธรรมวิถีไทย” อาทิ อู่อารยธรรมงามตระการ ณ “บ้านเชียง” , ร่อยรอยวัฒนธรรมอันล้ำค่า ... “ทวารวดี” , เสน่ห์มรดกวัฒนธรรมมากมี “ธนบุรี-รัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นการนำวิถีวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่น เช่น ประเพณี ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจัดแสดง สาธิต เพื่อให้ประชาชน ได้ชม ชิม ช็อป ตามอัธยาศัย โดยที่ไม่ต้องไปถึงที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ดังเช่นของที่นำมาจัดแสดงสาธิตในวันนี้เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของ กลุ่มเสน่ห์ มรดกวัฒนธรรมธนบุรี – รัตนโกสินทร์ เช่น ข้าวแช่ ขนมไทย น้ำสมุนไพร งานแกะสลักดินเผา กลุ่มเสน่ห์มรดกวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ข้าวหลาม ไก่ย่างบางตาล การแสดงระบำทวาราวดี เป็นต้น พร้อมทั้งยังมีการนำสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม (Cultural Product of Thailand : CPOT) และของดีบ้านฉันมาจัดแสดง เพื่อให้ประชาชนได้เลือก ชม ซื้อ ชิม ช้อป เช่น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ผ้าบาติก ประติมากรรมหนังตะลุง การแสดงโนราโกลน การจักสานเสวียนหม้อ ผลิตภัณฑ์จากปลา งานจิตรกรรมไทย และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำสามวัฒนธรรม (ไทย-กะเหรี่ยง-รามัญ)
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมกว่า 100 คณะ ที่บริเวณท้องสนามหลวง จำนวน 3 เวที คือ 1) เวทีกลาง เป็นการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างความความสุข ความสนุกสนานให้แก่ประชาชน เช่น การแสดงคอนเสิร์ตศิลปินแห่งชาติ การแสดงดนตรีพื้นบ้าน การแสดงดนตรีวงบิ๊กแบนด์ร่วมสมัย การแสดงโขน ชุดลักสีดา การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มประเทศอาเซียน จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวมถึงได้รับความร่วมมือจากจีน และอินเดียที่จะมาร่วมแสดงด้วย 2) เวทีย่อยที่ 1 ฝั่งโรงแรมรัตนโกสินทร์ การแสดงอาทิ มโหรีปางลาง ระบำโบราณคดี การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน (เซิ้ง โปงลาง) และเวทีย่อยที่ 2 ฝั่งโรงละครแห่งชาติ อาทิ การแสดงเบิกฟ้าหริภุญชัย การแสดงศิลปะการต่อสู้ฟันดาบและมวยพระยาพิชัยดาบหัก กระบี่กระบอง การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค เป็นต้น
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยังกล่าวย้ำอีกว่า การจัดงานครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงสร้างความสุขให้แก่ประชาชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.สายด่วนวัฒนธรรม 1765 หรือ www.m-culture.co.th