รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยในที่ประชุม Joint International Postgraduate Program on ASEAN Energy and Environment ซึ่งเป็นการประชุมกันระหว่างผู้แทน มหาวิทยาลัยในกลุ่ม AEC 5 แห่ง ประกอบด้วย
1) ประเทศอินโดนีเซีย โดย Institut Teknologi Bandung
2) ประเทศมาเลเซีย โดย University of Malaya
3) ประเทศฟิลิปปินส์ โดย University of the Philippines
4) ประเทศเวียตนาม โดย Hanoi University of Science and Technology
5) ประเทศไทย โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ภายใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าภายในปี พ.ศ. 2558 จะเกิดหลักสูตรใหม่ชื่อว่า นวัตกรรมทางการศึกษาของอาเซียนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักสูตร JIPP Joint International Postgraduate Program on ASEAN Energy and Environment หรือหลักสูตรร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอาเซียน ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมกันระหว่าง 5 มหาวิทยาลัยจาก 5 ประเทศ ดังกล่าว
ทั้งนี้การรวมตัวกันของประเทศในอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีวัตถุ ประสงค์เพื่อ
(1) การเป็นฐานการตลาดและการผลิตเดียว (Single market and product base)
(2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
(3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค
(4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่งความต้องการด้านพลังงานจะเป็นโครงร่างพื้นฐานในการพัฒนาในก้าวต่อไปของ AEC ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะรับมือกับสถานการณ์ ความมั่นคงด้านพลังงานและความมั่นคงด้านพลังงานในบริบทของตลาดเดียว
“มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ มีความรู้ และประสบการณ์ จากการทำวิจัยทางด้านพลังงานเป็นที่ แพร่ หลาย รวมถึง มีความร่วมมือ ในการทำวิจัยด้านพลังงานกับต่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะสร้างพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ครอบคลุมด้านพลังงานของอาเซียนขึ้น คือ โครงการ “Joint International Postgraduate Program on ASEAN Energy and Environment (JIPPAEE)” โดยในเบื้องต้น มีสมาชิกในโครงการฯ จากประเทศในอาเซียนจำนวน 5 ประเทศ คือ
1) ประเทศอินโดนีเซีย โดย Institut Teknologi Bandung
2) ประเทศมาเลเซีย โดย University of Malaya
3) ประเทศฟิลิปปินส์ โดย University of the Philippines
4) ประเทศเวียดนาม โดย Hanoi University of Science and Technology
5) ประเทศไทย โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ภายใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายหรือศูนย์กลางการศึกษาในโครงการฯ และก่อนหน้านี้เราทำข้อตกลงร่วมกันภายใต้โครงการนี้เรียบร้อยแล้ว”
ดร.สิรินทรเทพ กล่าวถึงรายละเอียดของหลักสูตร JIPP ว่า เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ เปิดรับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 ขึ้นไป ซึ่งนักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต ภายใต้โครงการฯ จะได้รับความรู้และประสบการณ์ ด้านการวิจัยไม่เฉพาะในประเทศของตนเอง แต่ยังรวมถึงประเทศในอาเซียนด้วย โดยมี อาจารย์ผู้สอนและควบคุมวิทยานิพนธ์ จากประเทศสมาชิกต่างๆ ของโครงการฯ และยังได้รับโอกาสในการทำวิจัยร่วมกันกับประเทศสมาชิกของโครงการฯ อย่างน้อย 3 ประเทศ ซึ่งนับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการทำวิจัยทางหนึ่งด้วย
“เราเองมีประสบการณ์ด้านการงานวิจัยร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยในอาเซียนอยู่แล้ว เรามีข้อมูลและทราบว่าในกลุ่มนี้มีการทำงานวิจัยที่ใกล้เคียงกัน เช่นในเรื่องการปรับปรุงเชื้อเพลิงชีวมวล ด้วยกระบวนการความร้อนที่อุณหภูมิต่ำนั้นไทยกับอินโดนีเซียก็ทำเหมือนกัน แต่ตัวเทคโนโลยีและวัตถุดิบมีความแตกต่างกัน ดังนั้นหากมีการต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน ก็จะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีกำลังในการต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ สูงขึ้น ในขณะที่ประเด็นเรื่ององค์ความรู้ของแต่ละประเทศที่ยังไม่เท่ากัน อาทิ ความรู้เรื่องไบโอดีเซล ซึ่งในไทยจะเน้นเรื่องการผลิต แต่ประเทศมาเลียจะขยับไปโฟกัสเรื่องธุรกิจการค้า เรื่องชุมชนและการตลาด ดังนั้นการมีหลักสูตรเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมร่วมกันในกลุ่มอาเซียนจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาเชียนได้”
ทั้งนี้หลักสูตรต่างๆ มีระยะเวลาการศึกษา 4 ภาคการศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาสำหรับการเรียน คือ ในประเทศไทย และประเทศสมาชิกของโครงการฯ และอีก 2 ภาคการศึกษาสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ ในประเทศของตนเอง โดยเมื่อจบหลักสูตร นักศึกษาจะได้ รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ขึ้นกับวุฒิการศึกษาปริญญาตรีของนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยของตนเอง นอกจากนี้นักศึกษายังได้รับประกาศนียบัตรร่วม ระหว่าง 5 มหาวิทยาลัยในการจบหลักสูตรพลังงานและสิ่งแวดล้อมอาเซียน
ดร.สิรินทรเทพ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการ Joint International Postgraduate Program on ASEAN Energy and Environment (JIPP) เป็นความร่วมมือที่ ไม่มีขอบเขตด้านภูมิภาค ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการแก้ ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียน และยังนับเป็นหน่วยเสริมสร้าง ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิก ซึ่งนำไปสู่การมีกำลังอำนาจในการต่อรองรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านพลังงานอีกด้วย