อุบลฯ พะเยา พร้อมนำร่องทีวีดิจิทัลชุมชน

พุธ ๐๓ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๑:๒๙
ไทยพีบีเอส เปิดห้องเรียนทีวีชุมชน เครือข่ายอุบลฯ พะเยา ยื่นแสดงเจตจำนงพร้อมนำร่องทีวีชุมชน ด้านพันเอก ดร.นที ประธานกสท.ชี้ ปัจจัยสำคัญต้องรอคืนระบบอนาล็อคก่อน จึงจะมีคลื่นความถี่มาให้บริการชุมชน

วันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อสร้างสุข และเครือข่ายทีวีชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ร่วมงานประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ปี 2557 “ปฏิรูปสื่อยุคดิจิตอล ความหวังยังมี ทีวีชุมชน” ณ อาคาร D ชั้น 2 ไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง มีผู้เข้าร่วมงานจากเครือข่ายสื่อภาคประชาชนทั่วประเทศ ในงานมีการแสดงนิทรรศการ งานเสวนา และการลงนามความร่วมมือ 9 สถาบันการศึกษา หนุนให้เกิดทีวีชุมชน รวมทั้งเครือข่ายทีวีชุมชนจากจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดพะเยาได้เตรียมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงก่อตั้งทีวีดิจิตอลชุมชนนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อม ให้แก่พันเอก ดร.นที ประธานกสท.ด้วย

นายศิริชัย สาครรัตนกุล ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ซึ่งเป็นประธานกล่าวต้อนรับในงานกล่าวว่า ส.ส.ท.เป็นสื่อสาธารณะระดับชาติ ส่วนทีวีชุมชนเป็นสื่อสาธารณะระดับพื้นที่ มีขอบเขตการทำงานใกล้ชุมชนมากกว่า ปัญหาทีวีชุมชนคือเราจะทำให้ทีวีชุมชนเกิดขึ้นและอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ทั้งในแง่การเงินทุนและอุดมการณ์ เพราะทีวีชุมชนต้องเป็นทีวีของประชาชน เพื่อประชาชน ไม่มุ่งเป็นกระบอกเสียงของภาครัฐ หรือกลุ่มทุนใดๆ ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์จากวิทยุชุมชนให้เรียนรู้ แต่วันนี้เป็นที่น่าดีใจมากเมื่อพบว่ามีบางชุมชนได้เริ่มต้นเตรียมความพร้อมทำทีวีชุมชนแล้ว ได้แก่จังหวัดพะเยา และจังหวัดอุบลฯ

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตทีวีชุมชนกับสังคมไทย” ว่าปัจจัยที่จะทำให้ทีวีชุมชนเกิดขึ้น คือ ระยะเวลาในการ ยุติระบบอนาล็อค เพื่อจะนำคลื่นมาให้บริการชุมชน โดยปัจจุบันมีการแจกคูปอง 690 บาท ให้แก่ประชาชนเพื่อไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล เมื่อระบบถูกเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบบดิจิตอลแล้ว ทีวีชุมชนจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินทุน เพราะทีวีชุมชนมีเงื่อนไขไม่สามารถหากำไรได้ แต่ทีวีชุมชนต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าโครงข่ายและค่าดำเนินการต่างๆ จึงมีกลไกขึ้นมาสนับสนุน คือกองทุนกทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการเก็บภาษีจากทีวีธุรกิจ เพราะฉะนั้นทีวีธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่มีผลต่อทีวีชุมชนด้วย

จากนั้นเครือข่ายทีวีชุมชนอุบลราชธานี นำโดยนายนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานกรรมการมูลนิธิสื่อสร้างสุข และประธานกรรมการทีวีดิจิตอลชุมชนอุบลราชธานี และเครือข่ายทีวีชุมชนจังหวัดพะเยาได้มอบดอกไม้ และหนังสือแสดงเจตจำนงก่อตั้งทีวีชุมชนนำร่องให้แก่พันเอกดร.นที เพื่อให้กำลังใจในการทำงานผลักดันให้เกิดทีวีชุมชนตามกฎหมายและเจตนารมย์ในการปฏิรูปสื่อต่อไป

ช่วงบ่ายมีการเสวนา บทเรียนต้นแบบและก้าวต่อไปของทีวีชุมชน จากตัวแทนพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดพะเยา โดยนายชัยวัฒน์ จันทิมา สถาบันปวงผญาพยาว ซึ่งได้นำร่องทีวีชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาได้ 2 ปี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าทีวีชุมชนเหมือนวัด ที่สร้างมาจากศรัทธาของคน ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันไม่ว่าจะบริจาคมากน้อย เป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งเจ้าอาวาส สามเณร กรรมการวัด และคนในชุมชน เชื่อว่าหากมีทีวีชุมชน สวนสนุกในวัดจะกลับคืนมา พื้นที่วัดจะกลับมา พื้นที่สาธารณะของชุมชนจะกลับมาด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้มีหลายปัจจัยเช่น คนดู พบว่าคนในชุมชนอยากดูเรื่องใกล้ตัว ผู้ผลิต ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนผลิตสื่อในที่นี้หมายถึงนักศึกษาที่เรียนจบจากมหาลัยในท้ายที่สุดแล้วมีใจรักท้องถิ่น อยากมีพื้นที่ทำงานและกลับไปทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง รวมทั้งกรรมการหรือที่ปรึกษา เครือข่ายชุมชน ภาคประชาชนที่มีข้อมูล เนื้อหาด้านภูมิปัญญญาท้องถิ่น พร้อมจะนำมาเป็นข้อมูลผลิตสื่อได้ทันที

ส่วนนายสุชัย เจริญมุขยนันท เลขธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขกล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นจากงานสื่อภาคประชาชนในยุคนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ โดยทำสื่อมัลติมีเดียเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชุมชน เช่น หนังสั้นกอนกวยส่วยไม่ลืมชาติ ที่เขียนบทถ่ายทำ ตัดต่อโดยชาวกวย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชาติพันธุ์กวยในกลุ่มเด็กเยาวชน ปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมกับชุมชน 7 ชุมชน ใน 3 จังหวัด ออกอากาศผ่านทีวีออนไลน์และเคเบิ้ลทีวีก่อน นอกจากนี้ยังได้สรรหากรรมการทีวีชุมชนที่เป็นตัวแทนของหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาให้ความเห็นต่อการทำงานด้วย

ส่วนการหนุนเสริมของมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยบทบาท เรียนรู้ร่วมกับชุมชน และหนุนเสริมงานวิชาการ เช่น ข้อมูลจากงานวิจัย หรือการติดตามประเมินผล เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่าให้ความเห็นว่าหลายประเทศใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อคสู่ระบบดิจิตอลเป็นเวลาหลายปี ปัจจัยสำคัญของการเกิดทีวีชุมชน คือรัฐต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เช่น ประเทศอังกฤษในปี 2011 รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ สั่งการประสานบีบีซีให้ทุนสนับสนุนและลงนามความร่วมมือในการทำงานผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version