นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เปิดเผยว่า "เอสซีจี เคมิคอลส์ ดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของชุมชนเป็นอันดับแรก ซึ่งในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ในการบริหารจัดการโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้นำหลักเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ซึ่งกำหนดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา ตัวแทนชุมชน ตัวแทนสื่อมวลชน มาใช้กับสองโรงงานในกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้แก่ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมุ่งพัฒนาด้านประสิทธิภาพเชิงนิเวศในโรงงาน (Eco Efficiency) และการพัฒนาชุมชนที่เน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อชุมชน (Outcome Impact) เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถอยูร่วมกับชุมชน รวมทั้งได้รับความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากชุมชน โดยมีเกณฑ์ 14 ด้าน ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งสองโรงงานได้ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสองแห่งแรกของประเทศไทย"
นายสมชาย กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริษัทในกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ ผ่านการประเมินคือ เราถือว่าการดูแลชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นนโยบายหลัก จนชุมชนมีความพึงพอใจ พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายร่วมกันที่จะดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม เราสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีนวัตกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อชุมชนและสังคม นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย สำหรับนวัตกรรมเพื่อชุมชนและสังคม เช่น การพัฒนาอาชีพด้วยการสนับสนุนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่การให้ความรู้ สนับสนุนอุปกรณ์ วัตถุดิบ พัฒนาคุณภาพและรูปลักษณ์ของสินค้า รวมถึงการหาช่องทางการตลาด ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 82 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี โครงการ One Manager One Community (OMOC) โดยผู้จัดการแต่ละคน จะดูแลชุมชนหนึ่งชุมชน โดยเข้าไปรับฟังปัญหาและร่วมหาทางออกให้กับชุมชน เป็นต้น “
“สำหรับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เช่น การนำของเหลือทิ้งกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบระหว่างโรงงาน (Industrial Symbiosis) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้คิดค้นนวัตกรรมสารเคลือบผิวเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสำหรับเตาเผาอุตสาหกรรม ที่ชื่อว่า “อิมิสโปร” (Emisspro) มาใช้ภายในโรงงาน และยังให้บริการกับอุตสาหกรรมภายนอกด้วย นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเพื่อช่วยเรื่องการจัดการมลภาวะอากาศ การจัดการน้ำและน้ำเสีย รวมถึงการจัดการกากของเสีย โดยเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่า เช่น ปุ๋ยไส้เดือนดินจากกากตะกอนอินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น”
“และเพื่อยกระดับความปลอดภัยของโรงงานให้อยู่ในระดับโลกเราได้คิดค้นนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบ ที่ชื่อว่า ซี-บอท (Ci-Bot) เพื่อใช้ตรวจสอบสภาพของท่อภายในเตาโรงงานปิโตรเคมีให้มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปตรวจสอบสภาพท่อ และล่าสุดเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้นำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตจากบริษัทระดับโลกมาประยุกต์ไช้ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานอีกด้วย”
นายสมชาย กล่าวถึงแผนงานในปีหน้าว่า “ในปีหน้า (2558) บริษัทฯ มีแผนพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ ด้านโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อปรับปรุงยกระดับด้านสิ่งแวดล้อมอีกประมาณ 160 ล้านบาท และพร้อมยกระดับโรงงานอีก 11 แห่งของเอสซีจี เคมิคอลส์ ในมาบตาพุด ให้ได้รับการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ครบทุกโรงงานภายในปี 2558 สำหรับแผนพัฒนาด้านที่สอง คือ ด้านนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) เนื่องจากบริษัทฯ มีธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารงานด้านนิคมอุตสาหกรรมด้วย คือ นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ซึ่งเราได้นำหลักเกณฑ์นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีหน้า เราจะเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco Excellency ต่อไป”
“สำหรับเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก จะทำให้ชุมชนมีความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นที่จะอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นเกณฑ์ที่ช่วยสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเกณฑ์ที่ครอบคลุมครบทุกด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ตลอดโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายไปสู่การเป็น Eco Industrial Town หรือ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้นั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยในภาคอุตสาหกรรมจะต้องเป็น Eco Factory ส่วนภาคสังคมและชุมชน จะต้องเป็น Eco Community เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน" นายสมชายกล่าวทิ้งท้าย