ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์” ที่ “BB+” และปรับแนวโน้ม เป็น “Positive” จาก “Stable”

พฤหัส ๐๔ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๐๒
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท หลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BB+” และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตจาก “Stable” หรือ “คงที่” เป็น “Positive” หรือ “บวก” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของฐานทุน ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้รับแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจหลักของบริษัท คือ สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ของไทยและความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัท การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงนโยบายของบริษัทในการทยอยให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นแก่บริษัทหลักทรัพย์ด้วย ทั้งนี้ ความสำเร็จของธุรกิจดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าภาวะตลาดหลักทรัพย์จะมีการเคลื่อนไหวในแนวโน้มที่คงที่และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากความคาดหมายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยที่บริษัทยังคงรักษาผลประกอบการและฐานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจหลักทรัพย์จะสามารถสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทในอนาคตได้ตามแผนโดยที่บริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนจาก ต.ล.ท. อย่างต่อเนื่องต่อไป

ภายหลังจากการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทก็มีเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น โดยในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 บริษัทได้เพิ่มทุนจำนวน 532 ล้านบาทโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (Private Placement) จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ ต.ล.ท. กระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน ทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,016 ล้านบาทเป็น 1,549 ล้านบาท โดย ต.ล.ท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 40.65% ตามด้วยกระทรวงการคลัง 10.56% และธนาคารออมสิน 9.5% นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นอื่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ 11.89% บริษัทหลักทรัพย์ 10.9% บริษัทจัดการกองทุน 9.7% บริษัทประกัน 2.82% และอื่น ๆ อีก 0.03% อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อสินทรัพย์รวมแข็งแกร่งขึ้นจาก 29.3% ในปี 2552 เป็น 53.1% ณ เดือนกันยายน 2557

บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 จากการหักขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขาย ภายหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2552 ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2556 และแข็งแกร่งกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจตามแผน โดยบริษัทสามารถทำกำไรจำนวน 25 ล้านบาทในปี 2556 และต่อเนื่องเป็น 23 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557

ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,046 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในสัดส่วน 94% หรือ 2,875 ล้านบาท บริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายในธุรกิจหลักด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและความท้าทายในตลาดหลังจากที่บริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ ได้ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2553 ถึงเดือนกันยายน 2557 ซึ่งทำให้ขนาดของสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมขยายตัวจาก 16,000 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 56,000 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2557 ผลกระทบจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2552 ทำให้พอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงอย่างอย่างมากจาก 6,377 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2551 เป็น 2,737 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2557 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจาก 24% ในเดือนกันยายน 2551 เหลือ 5% ในเดือนกันยายน 2557 จากสาเหตุที่บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ

ภายหลังการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทก็สามารถลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงได้ โดยบริษัทได้ทำการหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวใหม่ ๆ เพื่อนำมาจ่ายคืนเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ปัจจุบันบริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทได้รับวงเงินกู้จำนวน 53,300 ล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่ง

ในด้านคุณภาพของสินทรัพย์นั้น ในปี 2556 บริษัทได้พัฒนาและใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นในการจัดระดับของหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวช่วยสะท้อนระดับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันและช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ได้โดยมีความเข้มงวดในการเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) และการบังคับขาย (Force Sell) รวมทั้งคงเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อและหลักประกันที่เข้มงวดกวดขันต่อไป

บริษัทมีแผนในการกลับมาทำธุรกิจให้สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์อีกครั้งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือการให้สภาพคล่องแก่บริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจดังกล่าวก็อาจสร้างความท้าทายในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ บริษัทก็ยังมีผลงานในธุรกิจดังกล่าวไม่มากนัก

??

บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC)

อันดับเครดิตองค์กร: BB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ