สถาบันคีนันฯ ดันการพัฒนา 4 ด้านหลักโดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอาเซียน

ศุกร์ ๑๒ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๔๓
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริหาร สถาบันคีนันแห่งเอเซีย เปิดเผยถึง ทิศทางและนโยบายการทำงานใน ปี 2558ว่า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน คีนันจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการ 4 ด้านคือ การพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ด้านการเงินให้กับกลุ่มบุคคลต่างๆ รวมทั้งเอสเอ็มอี สนับสนุนนวัตกรรมด้านการศึกษา การให้ความรู้ด้านสาธารณสุข และโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมธุรกิจคืนประโยชน์สู่สังคม และส่งเสริมภาคธุรกิจให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“ในปี 2558 ที่จะเป็นการก้าวเข้าสู่การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) สิ่งที่คีนันมองไม่ใช่เรื่องการแข่งขันของแต่ละประเทศ แต่มองว่าจะสร้างเน็ทเวิร์คตรงนี้ให้แข็งแรงและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนให้แข็งแกร่งได้อย่างไร เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน”

ดังนั้นสถาบันฯ ได้วางแนวทางที่จะเข้าไปพัฒนาประเทศอาเซียนรวมถึงไทย ผ่านโครงการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการปฎิรูประบบการเรียน การสอน ที่สำคัญที่สุดคือต้องพัฒนาการศึกษาในภาควิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เพราะเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ

ประธานกรรมการคีนัน กล่าวว่า หนึ่งในกลไกสำคัญที่สถาบันฯ ผลักดันคือด้านการพัฒนาการศึกษา ทั้งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเรียน การสอนในภาควิชา STEM โดยผ่านการอบรมครู และผู้บริหารโรงเรียน โมเดลที่เราใช้เรียกว่าการเรียนการสอนแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลาง คือให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับคุณครู โมเดลที่เราใช้นี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในไทย และเรากำลังนำโมเดลแบบเดียวกันไปพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งสำคัญลำดับที่สองคือด้านเศรษฐกิจ คีนันยังมุ่งเน้นผลักดัน ASEAN SME regional Development Fund ให้เกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีของทุกประเทศให้แข็งแกร่งทัดเทียมกัน โดยบทบาทหน้าที่ของกองทุนเอสเอ็มอีอาเซียน นอกจากเป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียน ยังมุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เอสเอ็มอีด้วย

โดยที่ผ่านมาได้มีการทำพิมพ์เขียวจัดตั้งกองทุนฯและได้รับการเห็นชอบจากประเทศในอาเซียนแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหาข้อตกลงร่วมของประเทศสมาชิกในด้านต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการ วิธีการระดมทุน และการจัดสรรเงินแก่ เอสเอ็มอี เป็นต้น ถือเป็นเป้าหมายของคีนันที่จะผลักดันให้กองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

คุณหญิงชฎา กล่าวว่า การสนับสนุนแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการแก้ความเสียเปรียบด้านการแข่งขันของเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมด้านอื่นๆ ไปพร้อมกันโดยเฉพาะเรื่ององค์ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ สอนการวางแผนธุรกิจ วิธีจัดการด้านการเงิน การทำบัญชี และการตลาด รวมถึงสนับสนุนให้เอสเอ็มอีนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงสูงและต้นทุนสูง ดังนั้นการสนับสนุนเอสเอ็มอีเป็นเรื่องจำเป็น แม้ไทยจะมีการพัฒนาเอสเอ็มอีภายใต้โครงการของหน่วยงานต่างๆ แต่เอสเอ็มอีที่เข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ มีไม่มาก ประเด็นจึงอยู่ที่จะทำให้การช่วยเหลือไปถึงมือเอสเอ็มอีมากที่สุดได้อย่างไร เพราะเอสเอ็มอีมีจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอี แต่ปัญหาคือขาดความต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาเอสเอ็มอีไม่คืบหน้ามากนัก” คุณหญิงชฎา กล่าว

นอกจากนี้เพื่อรองรับแผนการพัฒนาศักยภาพของไทยและอาเซียน ทางสถาบันฯ มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งสำนักงานเพื่อสนับสนุนการทำโครงการในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันสถาบันฯ ได้จัดตั้งสำนักงานที่ฮานอย ประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีแผนตั้งสำนักงานเพิ่มในประเทศลาวและเมียนมาร์เป็นลำดับต่อไป ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ด้านการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเป็นบรรษัทภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยซีเอสอาร์แต่โครงการที่สถาบันฯดำเนินการจะผ่านการวางแผน วิเคราะห์ และศึกษา เพื่อให้ผู้รับประโยชน์สามารถต่อยอดได้มากกว่าทำโครงการบริจาคสิ่งของ ส่วนด้านสาธารณสุข สถาบันฯ ได้ดำเนินการไปหลายโครงการ อาทิ โครงการควบคุมและป้องกันโรคมาลาเรีย (CAP – Malaria) และที่กำลังเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น คือ การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี)

คุณหญิงชฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานที่เป็นระบบและชัดเจนของสถาบันฯ ทำให้มีพันธมิตรร่วมโครงการจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท โบอิ้ง บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารซิตี้แบงก์และมูลนิธิซิตี้ บริษัท รังสิต พลาซ่า บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ จำกัด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ เป็นต้น และจากการดำเนินงานของสถาบันฯตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันมีคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงกว่า 130,495 คน

อนึ่งคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เริ่มดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย ทิศทางการดำเนินงานของสถาบันคีนันฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน จนกระทั่งในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริหารสถาบันคีนันฯ จนถึงปัจจุบัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ