โดยคปก. เสนอให้ยกระดับสถานะของสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนโดยกำหนดให้สถาบันวิทยาลัยชุมชน มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการเพื่อให้เป็นหลักประกันในการตอบสนองวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาวิทยาลัยชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีหลักสำคัญให้รัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครอง ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีบทบาทในการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายและสอดคล้องกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ การจัดการศึกษาของชุมชนและท้องถิ่นควรมีปรัชญาชัดเจนและสอดคล้องคล้องการวัตถุประสงค์ของการศึกษา เช่น หลักการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการจัดการศึกษา หลักการบูรณาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนและท้องถิ่น ต่างก็เป็นหลักการที่สนับสนุนให้บุคคลเข้าถึงการศึกษาโดยวิธีการที่หลากหลายอันจะทำให้ทุกภาคส่วนทั้งในชุมชนและท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาวิทยาลัยชุมชนให้เป็นสถานศึกษาที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม คปก.เห็นว่าสถาบันวิทยาลัยชุมชนต้องไม่ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไปสู่ระดับปริญญา เนื่องจากจะส่งผลให้โอกาสในการศึกษาของคนในชุมชนลดลง และเพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาการศึกษาวิทยาลัยชุมชนที่ว่า “การศึกษาเป็นของประชาชน บริหารจัดการโดยประชาชน และจัดตามความต้องการของประชาชน” คปก.จึงเห็นควรให้เพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรเอกชน องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมหรือกลุ่มเครือข่าย ภาคประชาชนในชุมชนและท้องถิ่นเข้าเป็นองค์ประกอบของสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน และสภาวิชาการตามที่บัญญัติในร่างพรบ.ดังกล่าวด้วย